วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทุ่นระเบิดตกค้าง..ที่ราชบุรี (ตอนที่ 1)

ประเทศไทยได้ร่วมลงนามและทำสัตยาบรรณในอนุสัญญาพันธกรณีว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2542  (May 1999) สำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Nation Mine Action Commitee : NMAC) และก่อตั้งศูนย์ปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC) เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติและประสานงานเกี่ยวกับการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมทั้งปวงในประเทศไทย

โครงการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2543 องค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People's Aid : NPA) ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งสหประชาชาติ (United Nation Mine Action Service : UNMAS) และศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center : SAC) ให้เป็นผู้รับผิดชอบสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Landmine Impact Survey Kingdom of Thailand) โดยได้เริ่มสำรวจอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2543 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2544

ผลการสำรวจ
ผลการสำรวจพบว่า มีชุมชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนทั้งสิ้น 530 หมู่บ้าน ใน 84 อำเภอ  ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและสรรพาวุธที่ไม่ระเบิดจำนวน  933 แห่ง จำนวน 27 จังหวัด ขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 2,557 ตารางกิโลเมตร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของราษฎรจำนวน 503,682 คน

ผลกระทบกับจังหวัดราชบุรี
ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ได้ผลกระทบจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน  7 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอสวนผึ้ง ราษฎรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจำนวน 15,962 คน คลอบคลุมพื้นที่ 31.8 ตารางกิโลเมตร

ผลกระทบของทุ่นระเบิดและกระสุนตกค้างที่ยังไม่ระเบิดในพื้นที่ จ.ราชบุรี อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลของความขัดแย้งตามแนวชายแดนในระหว่างปี พ.ศ.2534-2544 

นอกจากนั้นจังหวัดราชบุรีถือว่ามีจำนวนผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในระยะ  2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วันสำรวจ สูงมากซึ่งติด 1 ใน 4 หมู่บ้านที่มีผู้ประสบภัยมากของประเทศไทยอีกด้วย จำนวนถึง 26 คน โดยเสียชีวิต 3 คน พิการแขนขา 9 คน สูญเสียการมองเห็น 2 คน บาดเจ็บอื่นๆ 8 คน และไม่ระบุความบาดเจ็บจำนวน 4 คน 

หมู่บ้านตะโกล่าง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง
ความเป็นมา : ปี พ.ศ.2538 กะเหรี่ยงถูกพม่าตีแตกทางภาคเหนือ จึงได้มีการถอยร่นลงมาทางกาญจนบุรี ราชบุรี มีการวางทุ่นระเบิดเพื่อเป็นแนวป้งกันตัวเองจากทหารพม่า ในช่วงปี พ.ศ.2539-2540 มีการสู้รบกันทุกวัน  หลังจากปี พ.ศ.2541 จะมีการปะทะนานาๆ ครั้ง และปัจจุบันมีกองกำลังพม่าอยู่ตามแนวชายแดน 
ข้อมูลเพิ่มเติม : บ้านตะโกล่าง หมู่ 8 ในอดีตเป็นหมู่บ้านเดียวกับ หมู่ 3 บ้านผาปก เมื่อประชากรมากขึ้นจึงแยกมาตั้งเป็นหมู่ 8 เมื่อปี พ.ศ.2536 โดยใช้ชื่อหมู่บ้านว่า บ้านตะโกล่าง โดยเขตการปกครองของบ้านตะโกล่าง หมู่ 8 จะครอบคลุมหมู่บ้านย่อย ซึ่งประกอบด้วย บ้านตะโกบน บ้านโป่งแมว และบ้านห้วยสุด  เขตพื้นที่หมู่บ้านตะโกล่าง เป็นพื้นที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ ก็อด อาร์มี่ (KNU) กลุ่มนายลูเธอร์-จอห์นนี่ เคยเคลื่อนไหวก่อนเข้ามอบตัว แต่ความเห็นของชาวบ้านเชื่อว่ายังมีกองกำลังบางส่วนหลงเหลืออยู่ และยังมีการเคลื่อนไหว เพราะทหารพม่าที่ติดตามกวาดล้างชนกลุ่มน้อยยังคงเคลื่อนไหวอยู่ การคาดเดาแนวพื้นที่สงสัยจึงค่อนข้างยากมาก และเชื่อว่าแนวพื้นที่สงสัยจะยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่
เจ้าหน้าที่ที่สำรวจ : รัตนจิตร  นันทเนตร และ วิศเวศ  ช่วยศิริ
สำรวจเมื่อ : 25 ก.พ.2544 
ผลกระทบจากทุ่นระเบิด : ชาวบ้านหวาดกลัวที่จะเข้าไปหาอาหาร และของป่า


ภาพการสำรวจของเจ้าหน้าที่ NPA
หมู่บ้านบ่อหวี ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง
ความเป็นมา เกิดมีการปะทะสู้รบของชนกลุ่มน้อยกับกองกำลังของพม่า การวางทุ่นระเบิดเป็นการวางของชนกลุ่มน้อย เพื่อป้องกันการติดตามและวางเพื่อสังหารกองกำลังพม่า 
ผลกระทบจากทุ่นระเบิด ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม ทุ่นระเบิดที่ปรากฏในพื้นที่เป็นทุ่นระเบิดสังหารชนิดแสวงเครื่อง เป็นการวางเพื่อสังหารบุคคลและป้องกันการติดตาม และมีการโยกย้ายพื้นที่วางตลอดเวลา และการวางจะวางเป็นจุดเล็กๆ เช่น ทางลงไปตักน้ำ ทางขึ้นลงเขา และทางแยกต่างๆ ดังนั้น การกำหนดพิกัดในแผนที่ทำได้ยากมาก เพราะวันนี้เราพบระเบิด แต่อีกหนึงสัปดาห์ข้างหน้า มันอาจถูกย้ายไปวางที่อื่นก็ได้
เจ้าหน้าที่สำรวจ ประเทือง ติสระ และไพฑูรย์  บุทเสน
สำรวจเมื่อ 23 ก.พ.2544
ผลกระทบจากทุ่นระเบิด ชาวบ้านไม่สามารถไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ 

หมู่บ้านห้วยน้ำหนัก ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง
ความเป็นมา ปี พ.ศ.2539 ฝั่งพม่ามีการสู้รบกัน ชาวกะเหรี่ยงจึงอพยพหนีเข้ามาฝั่งไทย โดยใช้เส้นทางบ้านพุระกำ  ช่องโป่งแห้ง และห้วยคอกหมู ทหารพม่าจะวางกับดักระเบิดตามสันแดน แต่ชาวกะเหรี่ยงจะวางกับดักระเบิดเพื่อป้องกันการติดตามของพม่า ปัจจุบันการวางระเบิดก็ยังมิได้สิ้นสุด
ข้อมูลเพิ่มเติม บ้านห้วยน้ำหนัก หมู่ 6 มีบ้านบริวารทั้งหมด 5 บ้านด้วยกันคือ บ้านวังโค บ้านห้วยผาก บ้านกระวาน บ้านหนองตาดั้ง และบ้านพุระกำ หมุ๋ 6 ได้ย้ายออกมาจากหมู่ 3 บ้านห้วยม่วง เมื่อปี พ.ศ.2542 มีประชากรทั้งหมด 1,500 คน เป็นผู้ที่มีบัตรประชาชน 350 คน มีบัตรฟ้า (ชุมชนพื้นที่สูง มีขอบเขตจำกัดอยู่แค่ อ.สวนผึ้ง) 150 คน บัตรเขียวขอบแดง (บัตรสำรวจชุมชน คนตกหล่น) 418 คน และเป็นผู้อพยพ 70 คน ที่เหลือคือเด็ก ประชากรของหมู่ 6 ส่วนใหญ่จะเป็นชาวกะหร่าง หรือคิดเป็นอัตราส่วน คือ 5 ใน 10 ส่วน ชาวกะเหรี่ยง 3 ใน 10 ส่วน และชาวไทย 2 ใน 10 ส่วน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนับถือศาสนาพุทธ มีเพียงบ้านห้วยน้ำหนักเท่านั้นที่นับถือศาสนาคริสต์มาก แต่ก็ไม่มากมายนัก
เจ้าหน้าที่สำรวจ นิตยา เลิศรุ่งวิเชียร   และไพฑูรย์  บุทเสน
สำรวจเมื่อ 24-25 ก.พ.2544
ผลกระทบจากทุ่นระเบิด ชาวบ้านหวาดกลัว เพราะบางครั้งต้องเข้าไปใช้เส้นทางตามช่องทางต่างๆ เพื่อเข้าไปเยี่ยมญาติทางฝั่งพม่า ไปทำไร่ และบางครั้งก็เข้าไปหาผักหวาน

หมู่บ้านผาปก ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง
ภาพการสำรวจของเจ้าหน้าที่ NPA
ความเป็นมา : เกิดจากปัญหาการสู้รับระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา จึงมีการวางกับดักระเบิดเพื่อป้งกันการติดตามจากทหารพม่า  ในปี 2543 เริ่มมีการวางกับระเบิดล้ำเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น มีการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ซึ่งเมื่อก่อนฐานจะอยู่บริเวณช่องเขากระโจม ก่อนจะถูกทหารพม่าตีแตก แล้วย้ายไปตั้งฐานใหม่ที่ปลายห้วยพลู แต่ปัจจุบันทหารไทยเข้าไปตีแตกแล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติม -
เจ้าหน้าที่สำรวจ เบญจวัลย์  มะลิวัลย์ และ ??
สำรวจเมื่อ 24 ก.พ.2544
ผลกระทบจากทุ่นระเบิด เมื่อก่อนเคยมีการข้ามไปมาค้าขายกันระหว่างชาวบ้านกับคนพม่า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ แต่พอมีทุ่นระเบิด ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำมาค้าขายเหมือนเดิมได้ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ และไม่สามารถเข้าไปหาของป่าได้

บ้านโป่งแห้ง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง
ความเป็นมา : เป็นการวางของชนกลุ่มน้อย วางตามเส้นทางเพื่อป้องกันการติดตามของกองกำลังเข้ามาโจมตีตนเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม : บ้านโป่งแห้ง  บ้านตะเคียนทอง บ้านไทรงาม เป็นบ้านที่ขึ้นกับบ้านห้วยม่วงที่เป็นบ้านมีชื่อในมหาดไทย จากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านห้วยม่วงที่ดูแลบ้านรอบๆ ผู้ใหญ่บอกว่า บ้านตะเคียนทอง บ้านไทรงาม บ้านห้วยม่วง ไม่มีผลกระทบเพราะ 4 กิโลเมตรจากชายแดนเข้ามา  ทหาร ฉก.ร.29 ได้สั่งห้ามไม้ให้ชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่  เนื่องจากกลัวชาวบ้านจะได้รับอันตรายจากกองกำลังที่อยู่ตามชายแดน และวัตถุระเบิด เพราะฉะนั้น ชาวบ้านถ้าจะเข้าพื้นที่ต้องขออนุญาตจาก ฉก.ร.29 ก่อน และชาวบ้านใน 3 บ้านที่อ้างถึง เป็นคนไทยทั้งหมด จะมีเฉพาะที่บ้านโป่งแห้งเป็นชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด 220 คน คิดเป็น 10% จากจำนวนประชากรทั้งหมดใน 4 บ้าน รวม 1,133 คน ในส่วนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านโป่งแห้ง  แต่ก่อนเคยมีพื้นที่ทำกินอยู่ในฝั่งพม่า ทำไร่ข้าวและไร่พริก จากชายแดนฝั่งไทยเข้ามา ชาวบ้านไม่เคยเข้าไปใช้พื้นที่เลย เพราะปี พ.ศ.2522 ประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ และป่าในความดูแลของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ปัจจุบันชาวบ้านทั้งหมดได้ที่ทำกินคนละประมาณ 14 ไร่ และคนในหมู่บ้านโป่งแห้งถือบัตรประชาชนสีฟ้า
เจ้าหน้าที่สำรวจ พนิดา  บุญคำมา และประเทือง ติสระ
สำรวจเมื่อ 24 ก.พ.2544
ผลกระทบจากทุ่นระเบิด ชาวบ้านเกรงกลัวและสงสัยในพื้นที่ที่เคยมีการสู้รบของกองกำลังกลุ่มน้อยกับทหารพม่าจะมีระเบิดอยู่ในพื้นที่


สรุปสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย
 (Landmine Impact Survey Kingdom of Thailand) 

อ่านต่อ : ทุ่นระเบิดตกค้าง..ที่ราชบุรี (ตอนที่ 2)

1 ความคิดเห็น:

khanclub กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ เป็นข้อมูลที่ดีมากครับ