วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560

มหากาพย์การซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี 2553-2560

เรื่องที่ควรอ่านก่อน
หลังจากศาลฎีกา จ.ราชบุรี มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 16 คน คนละ 6 ปี เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2560  "กลุ่มสมาชิกผู้ติดตามการทำธุรกิจล๊อตเตอรี่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี" ได้จัดทำบันทึกเรียบเรียงเหตุการณ์ดังกล่าวแจกจ่าย โดยใช้หัวข้อว่า "ความอัปยศ..มหกรรมการโกง..กว่าเจ็ดร้อยล้าน" เรื่องการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกำมะลอของคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ชุดที่ 54  

ผู้จัดทำจึงขอนำมาบันทึกไว้ในบล็อกแห่งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้และเป็นบทเรียนที่สำคัญต่อคนรุ่นต่อไป  โดยมิได้หวังเพื่อทำลายผู้หนึ่งผู้ใด หวังว่าผู้อ่านทุกท่านพึงเข้าใจ เหตุการณ์ต่างๆ ถือว่าสิ้นสุดลงแล้วโดยกระบวนการของศาลสถิตยุติธรรม

ข้อความที่ปรากฏในบันทึก มีดังนี้

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด เกิดความเสียหายเนื่องจากการบริหารกิจการของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 54 ซึ่งนำโดย นายวีระศักดิ์ ตันเจริญรัตน์ อดีตประธานคณะกรรมการชุดที่ 54 และนายชาญชัย ลิ้มแสงอุทัย อดีตผู้จัดการ และคณะกรรมการอีก 14 คน คือ (1) นายยงยุทธ รอดทิม (2) นายวัฒนา ปันปี (3)นายวิรัตน์ มาวิบูลย์วงศ์ (4)นายธนู  คชสวัสดิ์ (5) นายวิเชิญ คำประดิษฐ์ (6)นายทวีป จูเกษม (7)นายนนท์ ลิมปนะพฤกษ์ (8)นายนพรัตน์ โม่มาลา (9)นายประทิพย์ คนทัด (10)นายไพศาล เกิดขาว (11)นายชุมสิน ศักดิ์นภาพรเลิศ (12)นายวิชัย อุดมกุศลศรี (13)นายไพรัตน์  กิตติรุ่งสุวรรณ และ (14)นายพงศ์ชาติ  ปานสุข ที่ได้ใช้มติคณะกรรมการกู้เงินสถาบันการเงินอื่นและอ้างว่านำไปดำเนินการธุรกิจสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัทเทวาสิทธิ์พิฆเนศ และถูกฉ้อโกง ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรีเกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 799,630,082.19 บาท (เจ็ดร้อยเก้าสิบเก้าล้านหกแสนสามหมื่นแปดสิบสองบาทสิบเก้าสตางค์) จึงขอลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังนี้
  • 22 ตุลาคม 2553 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 54 มีมติเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ดำเนินการธุรกิจซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมอบให้ นายวีระศักดิ์ ตันเจริญรัตน์ ประธานฯ และนายชาญชัย ลิ้มแสงอุทัย ผู้จัดการเป็นผู้ลงนามในสัญญา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อบังคับของสหกรณ์ฯ
  • 28 ตุลาคม 2553 สหกรณ์จังหวัดราชบุรี มีหนังสือท้วงติงแจ้งถึงประธานคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรีจำกัด ให้ทบทวนการทำธุรกิจจัดซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่าย เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานสหกรณ์ ที่ต้องผ่านมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก แต่คณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 เพิกเฉย และยังคงดำเนินการต่อไป 
  • สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับที่ 1 กับบริษัทเทวาสิทธิ์พิฆเนศ จำกัด ในวงเงิน 466,400,000 บาท (สี่ร้อยหกสิบหกล้านสี่แสนบาท) เป็นค่าซื้อสลาก 72,800,000 บาท (เจ็ดสิบสองล้านแปดแสนบาท) เป็นค่าจองซื้อสลากจำนวน 48 งวด เป็นเงิน 393,800,000 บาท (สามร้อยเก้าสิบสามล้านแปดแสนบาท) โดยต้องโอนเงินซื้อทุกงวด
  • 7 ธันวาคม 2553 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ได้ทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับที่ 2 กับ บริษัทเทวาสิทธิ์พิฆเนศ จำกัด ในวงเงินเท่าเดิม รวมเป็นเป็นเงินหลักประกัน  2 สัญญา รวม 787,600,000 บาท (เจ็ดร้อยแปดสิบเจ็ดล้านหกแสนบาท)
  • เดือน กรกฏาคม 2554 สมาชิกสหกรณ์กลุ่มหนึ่งที่ทราบข่าว ออกมาเรียกร้องกระจายข่าวให้สมาชิกสหกรณ์ซึ่งส่วนมากเป็นครูได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้คณะกรรมการชุดที่ 54 เปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีนำเงินของสหกรณ์ฯ ไปลงทุนซื้อล๊อตเตอรี่ แต่ไม่ได้รับคำชี้แจง ทั้งยังมีความพยายามปกปิดข้อมูล บิดเบือนข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการบางคนทำหนังสือใบปลิวออกมาบิดเบือนโจมตีกล่าวหาว่า สมาชิกในกลุ่มดังกล่าวเสียผลประโยชน์ มีอคติต่อสหกรณ์ ต้องการสร้างความวุ่นวาย มีเจตนาร้ายต้องการทำลายชื่อเสียงสหกรณ์ฯ ให้เสื่อมเสีย
  • 29 กรกฎาคม 2554 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรีจำกัด มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับบริษัทเทวาสิทธิ์พิฆเนศ จำกัด สาเหตุเนื่องจากบริษัทฯ บิดพลิ้วไม่ยอมส่งสลากฯ งวดที่ 18,14 (ของสัญญาที่ 1 และ 2) มาให้โดยไม่มีเหตุผลชี้แจง และไม่ยอมคืนเงินที่ซื้อสลากและเงินหลักประกัน ถือว่าผิดสัญญา และสหกรณ์ฯ แจ้งให้บริษัท เทวาสิทธิ์พิฆเนศ จำกัด คืนเงินให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด จำนวนเงิน 686,800,000 บาท (หกร้อยแปดสิบหกล้านแปดแสนบาท)  
  • เหตุการณ์เริ่มเข้มข้น มาถึงตอนนี้คณะกรรมการชุดที่ 54 โดยนายวีระศักดิ์ ตันเจริญรัตน์ อดีตประธานฯ รวมทั้งผู้จัดการ นายชาญชัย ลิ้มแสงอุทัย คณะกรรมการอีก 14 คน เริ่มร้อนตัวเพราะติดต่อนายศรีสุข รุ่งวิสัย บริษัท เทวาสิทธิ์พิฆเนศ จำกัด ไม่ได้
  • 8 สิงหาคม 2554 บริษัท เทวาสิทธิ์พิฆเนศ จำกัด มีหนังสือยินยอมยกเลิกสัญญากับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด และให้สหกรณ์ฯ แจ้งภาระหนี้สินให้กับทางบริษัทฯ
  • 10 สิงหาคม 2554 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด แจ้งภาระหนี้สินกับบริษัท เทวาสิทธิ์พิฆเนศ จำกัด อีกครั้ง พร้อมให้ชำระหนี้ภายใน 7 วัน
  • 30 สิงหาคม 2554 บจก.เทวาสิทธิพิฆเนศ มีหนังสือรับสภาพหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด พร้อมจ่ายเช็คจำนวน 6 ใบ โดยไม่ลงวันที่สั่งจ่าย แต่จะจ่ายภายใน 45 วัน (หมดกำหนด 15 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นการยื้อเวลา)
  • 3 กันยายน 2554 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด เปิดประชุมวิสามัญตามคำเรียกร้องของสมาชิกฯ เพื่อให้ชี้แจงการดำเนินการธุรกิจสลากกินแบ่งรัฐบาล และนายวีระศักดิ์ ตันเจริญรัตน์ ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ฯ สัญญาว่า ถ้าเบิกเงินตามเช็คสั่งจ่ายไม่ได้ พร้อมจะพิจารณาตนเองลาออกและรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น
  • 15 กันยายน 2554 สหกรณ์ฯ ประกาศเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ออกไปไม่มีกำหนด โดยอ้างว่ากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ยังตรวจบัญชีของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรีไม่แล้วเสร็จ ข้อเท็จจริง คือ ปิดงบบัญชีไม่ได้ เพราะเงินหายไป 686 ล้านบาท ผู้ตรวจบัญชีไม่ยอมรับรอง
  • 14 ตุลาคม 2554 ครบกำหนดตามที่ บจก.เทวาสิทธิพิฆเนศ อ้างว่าเช็คจะขึ้นเงินได้ คณะกรรมการสหกรณ์ฯ นำเช็ค 6 ใบ ไปเบิกเงินจากธนาคาร ซึ่งธนาคารปฏิเสธการสั่งจ่ายเช็คฉบับดังกล่าว (เช็คเด้ง)
  • 18 ตุลาคม 2554 คณะกรรมการสหกรณ์ฯ ชุดที่ 54 ไปแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธร อ.เมืองราชบุรี กรณี บจก.เทวาสิทธิพิฆเนศ ไม่สามารถจ่ายเงินตามเช็คสั่งจ่ายของบริษัทฯ ได้
  • 24 ตุลาคม 2554 สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี มีหนังสือแจ้งให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ทราบว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับคดีซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเกิดเหตุกับสหกรณ์ฯ ต่างๆ อีก รวม 13 แห่งไว้เป็นคดีพิเศษที่ 86/2554
  • 26 ตุลาคม 2554 กลุ่มตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรีชุดที่ 54 ผู้จัดการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ณ สถานีตำรวจภูธร อ.เมืองราชบุรี ดังนี้
    • นายวีระศักดิ์  ตันเจริญรัตน์ อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ฯ ชุดที่ 54 จำเลยที่ 1
    • นายยงยุทธ  รอดทิม อดีตกรรมการ จำเลยที่ 2
    • นายวัฒนา ปันปี อดีตกรรมการ จำเลยที่ 3
    • นายวิรัตน์  มาวิบูลย์วงศ์ อดีตกรรมการ จำเลยที่ 4
    • นายธนู คชสวัสดิ์ อดีตกรรมการ จำเลยที่ 5
    • นายวิเชิญ คำประดิษฐ์ อดีตกรรมการ จำเลยที่ 6
    • นายทวีป จูเกษม อดีตกรรมการ จำเลยที่ 7
    • นายนนท์ ลิมปนะพฤกษ์ อดีตกรรมการ จำเลยที่ 8
    • นายนพรัตน์ โม่มาลา อดีตกรรมการ จำเลยที่ 9
    • นายประทิพย์ คนทัด อดีตกรรมการ จำเลยที่ 10
    • นายไพศาล เกิดขาว อดีตกรรมการ จำเลยที่ 11
    • นายชุมสิน ศักดิ์นภาพรเลิศ อดีตกรรมการ จำเลยที่ 12
    • นายวิชัย อุดมกุศลศรี อดีตกรรมการ จำเลยที่ 13
    • นายไพรัตน์ กิตติรุ่งสุวรรณ อดีตกรรมการ จำเลยที่ 14
    • นายพงศ์ชาติ ปานสุข อดีตกรรมการ จำเลยที่ 15
    • นายชาญชัย ลิ้มแสงอุทัย อดีตผู้จัดการ จำเลยที่ 16
    • นายโกมล บัณฑิตเดช อดีตผู้ตรวจสอบกิจการ จำเลยที่ 17
    • นายไชยารัตน์ ตันชัยสวัสดิ์ อดีตผู้ตรวจสอบกิจการ จำเลยที่ 18
    • นายสุชิน  ศรีกมลธิติ อดีตผู้ตรวจสอบกิจการ จำเลยที่ 19
    • นายดุสิต สวัสดิภาพ อดีตผู้ตรวจสอบกิจการ จำเลยที่ 20
    • นายกฤษฎา สุพงศ์ อดีตผู้ตรวจสอบกิจการ จำเลยที่ 21
    • บริษัท เทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด จำเลยที่ 22
    • นายศรีสุข รุ่งวิสัย อดีตสมาชิกวุฒิสภา จำเลยที่ 23 
  • 28 พฤศจิกายน 2554 คณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 ได้ฟ้องคดีแพ่งดำเนินคดีกับ บจก.เทวาสิทธิพิฆเนศ จำเลยที่ 1 และนายศรีสุข รุ่งวิสัย จำเลยที่ 2 ข้อหา ผิดสัญญา,รับสภาพหนี้
  • 10 ธันวาคม 2554 ในการประชุมสามัญประจำปี ที่ประชุมมีมติถอดถอนคณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 ทั้งคณะ และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นคือ ชุดที่ 55
  • กุมภาพันธ์ 2555 คณะกรรมการฯ ชุดที่ 55 มีมติฟ้องนายวีระศักดิ์ ตันเจริญรัตน์ อดีตประธานคณะกรรมการชุดที่ 54 นายชาญชัย ลิ้มแสงอุทัย อดีตผู้จัดการฯ และคณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 ผู้ตรวจสอบกิจการ บจก.เทวาพิฆเนศ นายศรีสุข รุ่งวิสัย และผู้เกี่ยวข้อง รวม 25 คน คดีแพ่ง ข้อหา ตัวแทน,ละเมิด เรียกค่าเสียหาย จำนวน 799,630,082 บาท (เจ็ดร้อยเก้าสิบเก้าล้านหกแสนสามหมื่นแปดสิบสองบาท)
  • 15 มีนาคม 2555 DSI มีหนังสือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี อายัดบัญชีเงินฝากและหุ้นคณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 ทั้ง 15 คน และผู้จัดการ และต่อมาชุดสืบสวน DSI เสนอสั่งฟ้องอดีตประธานและผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ทั้ง 13 แห่ง ที่มีเรื่องคดีสลากกินแบ่งรัฐบาลรวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี
  • กันยายน 2555 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีคำสั่งไม่ฟ้องอดีตประธานและอดีตผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง อ้างว่ากันไว้เป็นพยาน
  • 5 กันยายน 2556 ศาลจังหวัดราชบุรี ได้มีคำสั่งประทับคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 34/2556 ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ได้ยื่นฟ้องนายวีระศักดิ์ ตันเจริญรัตน์ จำเลยที่ 1 กับพวก 23 คนฝ่ายจำเลย โดยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1-21 ซึ่งเป็นอดีตคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ชุดที่ 54 และผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ฯ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง และฟ้องจำเลยที่ 22 คือ นายศรีสุข รุ่งวิสัย และจำเลยที่ 23 คือ บจก.เทวาสิทธิพิฆเนศ ในข้อหายักยอกทรัพย์และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยศาลได้พิเคราะห์ตามพยานหลักฐานโจทย์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1-21 มีมูลตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 352,353 ประกอบมาตรา 83(ยักยอกทรัพย์) จำเลยที่ 22,23 มีมูลตามประมวลกฏหมายมาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 (ร่วมกันฉ้อโกง) ให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา จึงมีหมายเรียกจำเลยทั้ง  23 คนมาให้การในวัดนัดฟ้อง วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09:00 น.  
  • 30 พฤศจิกายน 2556 ศาลจังหวัดราชบุรี ได้ตัดสินความแพ่ง ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ฟ้องคณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 ทั้ง 15 คน, ผู้จัดการฯ, ผู้ตรวจสอบกิจการทั้ง 5 คน, บจก.เทวาสิทธิพิฆเนศ,นายศรีสุข รุ่งวิสัย รวม 23 ราย โดยศาลจังหวัดราชบุรี พิพากษา "ให้จำเลยทั้ง 23 คน ร่วมกันชำระเงินจำนวน 686,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (2 มีนาคม 2555) และชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำนวน 500,000 บาท"
  • 16 กรกฏาคม 2558 ศาลอาญาจังหวัดราชบุรีชั้นต้น ได้มีคำพิพากษา "ให้จำเลยที่ 1-16 มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกคนละ 6 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 17-21 (ผู้ตรวจกิจการ) ส่วนจำเลยที่ 22,23 (บจก.เทวาสิทธิพิฆเนศ และนายศรีสุข รุ่งวิสัยที่หลบหนี) ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราว"
  • 2 ธันวาคม 2558 ศาลอุทธรณ์จังหวัดราชบุรี ได้ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยทั้ง 16 คน คนละ 6 ปี
  • 1 มีนาคม 2560 ศาลฎีกาจังหวัดราชบุรี ได้พิจารณาข้อฎีกาของฝ่ายจำเลยที่ร้องว่า คดีขาดอายุความและมีข้อขัดแย้งในเรื่องวันเวลาที่โจทก์มีมติฟ้อง ซึ่งศาลฏีกาพิจารณาว่าไม่ใช่สาระสำคัญ ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยทั้ง 16 คน
.....ฯลฯ...............

ผลสรุปของเหตุการณ์นี้ก็คือ วิบากกรรมที่ตกถึงสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ทั้ง 9,000 กว่าคน และความน่าเชื่อถือของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี นับเป็นตราบาปของวงการสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยที่ยากจะลืมเลือน การสูญเสียสิทธิประโยชน์เม็ดเงินผลกำไรที่สมาชิกควรจะได้ กลับต้องนำไปใช้หนี้กว่าเจ็ดร้อยเก้าสิบเก้าล้านบาท ต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี สถานการณ์การเงินจึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ นับเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งในแวดวงการศึกษาของกลุ่มบุคลากรครูจังหวัดราชบุรี ที่จะเป็นบทเรียนให้ต้องจดจำไปอีกนานเท่านาน

หมายเหตุ ตัวเลขเงินในส่วนต่างๆ อาจจะไม่ตรงกัน เพราะอ้างอิงตามเอกสารที่ปรากฏ บางส่วนอยู่ในดุลยพินิจของทนายความ และตามข้อเท็จจริงในการทำสัญญาหรือระบุตัวเลขต่างๆ ลงในเอกสารของกลุ่มจำเลยทั้งสองฝ่าย ขาดความละเอียดถี่ถ้วน ทำให้ตัวเลขสรุปออกมาไม่ตรงกัน

ด้วยความจริงใจ
จาก...กลุ่มสมาชิกผู้ติดตามการทำธุรกิจล๊อตเตอรี่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี

***********************
เงิน....ง้างเหล็กงอได้
เงิน....ง้างจิตใจให้ถลำ
เงิน....ง้างอุดมการณ์ให้มืดดำ
เงิน....ง้างให้ ใฝ่ต่ำ ลืมตน

3 ความคิดเห็น:

ลุง​รัก​ชาติ​ราชบุรี​ กล่าวว่า...

ขอบคุณที่ช่วยกระตุ้นให้ครูราชบุรี่วนหนึ่งได้มีจิตสำนึกตระหนักถึงเกียรติยศศักดิ์ศรีของความเป็นครู..ไม่ปล่อยปละละเลยให้ถูกสนตะพาย..และละอายตนเองว่า..แม้แต่สหกรณ์วิชาชีพอื่นๆเช่นแท็กซี่..ก็ยังไม่ทำกัน..

ลุง​รัก​ชาติ​ราชบุรี​ กล่าวว่า...

ขอบคุณที่ช่วยกระตุ้นให้ครูราชบุรี่วนหนึ่งได้มีจิตสำนึกตระหนักถึงเกียรติยศศักดิ์ศรีของความเป็นครู..ไม่ปล่อยปละละเลยให้ถูกสนตะพาย..และละอายตนเองว่า..แม้แต่สหกรณ์วิชาชีพอื่นๆเช่นแท็กซี่..ก็ยังไม่ทำกัน..

Unknown กล่าวว่า...

เพิ่อนครูกันทั้งนั้น แต่ถูกผิดย่อมเป็นไปตามผลกรรม เงินตัวเดียวทำให้มีจิตรละโมภอยากได้ ฝ่าฝืนระเบียบต่างๆ เข้าข้างตัวเองว่าทำถูก สุดท้ายผลกรรมนั้นตามสนอง สงสารก็กรรมการที่ตามน้ำ ได้ไม่คุ้มเสีย เสียใจด้วยครับเป็นอุธาหรณ์ที่ไม่คุ้มกันเลยยยยย