วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พิสูจน์ทราบหัวรถจักร ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์


ข้อมูลเบื้องต้นของหัวรถจักรไอน้ำ มีการระบุไว้จำนวนหลากหลาย ดังนี้

หนังสือกรมการทหารช่างที่ 11 (2535) ได้ประสานขอข้อมูลของหัวรถจักรที่จมน้ำ จาก สำนักงาน จ.ราชบุรี (ฝ่ายอำนวยการ) นายประกิต ศรีสุทธิ์ นายสถานีรถไฟราชบุรี กองประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย นายวรรณศักดิ์ ทรายแก้ว วิศวกรกำกับการเขตบำรุงทางหัวหิน นายสรรพสิริ วิริยะสิริ ประธานชมรมเรารักรถไฟ สรุปข้อมูลที่ได้ดังนี้

1. น้ำหนักหัวรถจักรไอน้ำ โดยประมาณ 70-80 ตัน ไม่ทราบขนาดและมิติที่แน่นอน
2. ชั้นรับน้ำหนักของสะพานจุฬาลงกรณ์ ประมาณ 150 ตัน
3. สาเหตุที่ไม่กู้ขึ้นมาเพราะไม่มีงบประมาณ

เอกสารประกอบรายงานการประชุม เรื่อง หัวรถจักรไอน้ำ (2540) กล่าวว่า

1. หัวรถจักรมีลักษณะขนานกับสะพานทั้งสอง แต่สวนหัวจะหันมาทางด้านสะพานธนะรัชต์เล็กน้อย
2. ระยะของหัวจักรห่างจากตะม่อ สะพานธนะรัตช์ ประมาณ 70 ซม.
3. ด้านท้ายของหัวรถจักรจะอยู่จะอยู่ระหว่างกลางช่องสะพาน ลักษณะการวางอยู่ใต้พื้นน้ำ จากการสอบถามผู้ที่เคยไปงมกุ้งและหาปลาบริเวณนั้น จะอยู่ในลักษณะหัวเชิดขึ้นเล็กน้อย ท้ายจะทรุดต่ำลง
4. มีทรายอยู่เฉพาะด้านในของท้ายรถจักรสูง ประมาณ 60 ซม. ส่วนด้านหัวทรายได้ถูกน้ำพัดพาไปจะเหลือน้อย
5. ในปัจจุบันน้ำจะมีระดับสูงจากแนวปล้องของหัวรถจักร ประมาณ 3-5 เมตร ถ้าน้ำลดลงมากกว่านี้ จะเห็นปล้องโผล่ขึ้นเหนือน้ำ

นายสมศักดิ์ สุวรรณไพบูลย์ วิศวกร อำนวยศูนย์ที่สะพาน ฝ่ายการช่างโยธา ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า (รายงานการประชุม เรื่อง หัวรถจักรไอน้ำ. 2540) ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหัวรถจักรไอน้ำไว้ว่า ยังไม่ทราบว่าเป็นหัวรถจักรชนิด ซึ่งมี 2 ชนิด ดังนี้

1. รุ่นที่ทำในประเทศอังกฤษ เป็นรถจักรขนาดเล็ก เมื่อสมัยนั้นทางสายใต้ใช้วิ่งเป็นประจำรุ่นพีคลาส น้ำหนักตัวรถจักร และรถลำเลียง น้ำหนักประมาณ 77 ตัน
2. รุ่นที่สร้างจากประเทศญี่ปุ่น เป็นรถจักรขนาดเล็ก รุ่น ซี 56 น้ำหนักตัวรถจักรและรถลำเลียง น้ำหนักประมาณ 64.9 ตัน

ซึ่งในหัวรถจักร 1 หัว ประกอบไปด้วย ด้านหัวรถจักร หรือ เรียกว่า เอนยิ้น ส่วนรถลำเลียงก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกออกจากกันได้ ถ้าหากว่าแยกหัวรถจักรออกจากรถลำเลียงของรถของรถเอนยิ้น ถ้าเป็นรุ่นพีคลาส 49 ตัน รถลำเลียง 27 ตัน โดยประมาณ ถ้าเป็นรุ่น ซี 56 ของญี่ปุ่นรถเอนยิ้น 37.6 ตัน รถลำเลียง 27 ตัน นี่คือลักษณะของรถ และน้ำหนัก
จากข้อมูลที่ทราบอาจจะเป็นรุ่นใดรุ่นหนึ่ง เพราะสมัยนั้นรถ 2 ชนิดนี้ นิยมใช้ในการลำเลียงในทางสายใต้ เพราะเส้นทางสายใต้ ใช้ความกว้างของราง 1 เมตร ซึ่งรถจักรใหญ่หนักประมาณ 97 ตัน ถ้ารวมรถจักรและรถลำเลียงรุ่นพีคลาส ของประเทศอังกฤษ ความยาวเฉพาะเอนยิ้น หรือว่าด้านรถจักรประมาณ 10,474 มิลลิเมตร หรือ 10 เมตร ส่วนด้านรถลำเลียง 600 มิลลิเมตร หรือ 6 เมตรกว่า รวมแล้วประมาณ 17 เมตร ความยาวทั้งหมดจากปลายเสา ส่วนความสูงวัดจากรางข้างล่างจนถึงปล่องไฟ 3,699 มิลลิเมตร สำหรับรถลำเลียงประมาณ 2,972 มิลลิเมตร ความกว้างของตัวรถ 2,360 มิลลิเมตร ถ้าเป็นรถชนิดนี้ตกลงไป ก็คือรุ่นพีคลาส ของประเทศอังกฤษ ส่วนตัวรถจักรสามารถแยกออกจากตัวเทรนเลอร์หรือลำเลียง ถ้าตัวรถลำเลียงจมอยู่ในพื้นมากเราก็ตัดเอาส่วนนี้ออก เอาแต่เฉพาะส่วนหัวออกมาเพราะสามารถแยกออกจากกันได้ ส่วนหัวก็จะมีหม้อน้ำกับชุดล้อส่งกำลัง สองด้านเรียบล้อเล็กว่า ล้อนำ สามล้อคือล้อกำลัง ล้อหลังคือล้อตาม ในชุดของเอนยิ้นมีแค่นี้ ถ้ารถลำเลียงมีทรายโคลนเยอะ เราก็ต้องตัดส่วนนี้ออก รถลำเลียงไม่สามารถนำออกมาได้ การรถไฟอาจจะมีรุ่นนี้ ถ้าไม่สามารถเอารถลำเลียงขึ้นมาได้ ถ้ามีผลกระทบต่อตะม่อ เพราะฉนั้นอาจจะเป็นข้อมูลพอสังเขปได้ สำหรับรถพีคลาส

รถจักรรุ่น ซี 56 ซึ่งผลิตในประเทศญี่ปุ่นถ้าจะดูด้านเอนจิ้น มีความยาว 9,324 มิลลิเมตร ส่วนเทรนเลอร์รถลำเลียง 5,164 มิลลิเมตร ความสูงจากล้อถึงปล่องไฟ 3,700 มิลลิเมตร ความสูงจากล้อถึงช่องเหล็กรถไฟ 3,300 มิลลิเมตร ความกว้างของตัวรถ 2,460 มิลลิเมตร น้ำหนักของรถรุ่นนี้ ถ้าเป็นเอนยิ้น 37 ตัน ตัวเปล่าเทรนเลอร์ 27 ตัน สามารถตัดและแยกออกจากกันได้ โดยมีขอพ่วงสำหรับล้อรุ่นนี้ มีลักษณะ 1 ล้อเล็ก 3 ล้อใหญ่ ไม่เหมือนรุ่นพีคลาส ด้านหน้ามี 4 ด้าน ด้านหลังมี 3 ด้าน และ 2 ซึ่งเป็นข้อมูลคร่าวๆ

ในวันที่ 18 ก.พ.2548 พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง (เบื้องลึกประเด็นข่าว. 2548) ได้ใช้เงินส่วนตัวว่าจ้างให้ นายสุทธิ พยัคฆ์ อายุ 64 ปี นายดำรง พยัคฆ์ อายุ 32 ปี และนายสาโรจน์ พยัคฆ์ อายุ 31 ปี สามพ่อลูก อยู่บ้านเลขที่ 81/2 ถ.ท่าเสา เขตเทศบาลเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นนักดำน้ำงมกุ้งและงมหาของเก่าในแม่น้ำแม่กลอง ดำลงไปวางทุ่นลอยในแม่น้ำแม่กลอง โดยจุดวางทุ่นเป็นหัวรถจักร และลูกระเบิดยาว 1.50 เมตร จำนวน 8 ลูก

ทั้งสามพ่อลูกกล่าวต่อว่า การดำลงไปครั้งนี้พบหัวรถจักรและลูกระเบิดหลายลูก พร้อมด้วยเศษเหล็กที่ถูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำลาย ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แต่มีสนิมเกาะ ก่อนหน้านี้นับสิบปี พวกตนมาดำงมกุ้งและงมหาของเก่า เมื่อถึงบริเวณนี้ได้พบส่วนของหัวรถจักรจมอยู่ภายในมีทรายอยู่เป็นจำนวนมาก พวกตนเล่าให้กับชาวราชบุรีฟังหลายคน ส่วนระเบิดที่พบนั้นลูกใหญ่สูงเท่าคนเกือบสิบลูก ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งระดับความลึกจากผิวน้ำลงไปถึงหัวรถจักรประมาณ 10 เมตร

นอกจากนั้น ในการดำน้ำในครั้งนี้ พันเอก คณิต แจ่มจันทรา ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 11 (ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ. 2548) ได้รายงานจุดที่ติดตั้งทุ่นลอยสีส้ม ไว้จำนวน 5 จุด เพื่อแสดงตำแหน่งของซากและสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้

1. หัวรถจักรไอน้ำ 1 คัน (จำนวน 4 ทุ่น)
2. ลูกระเบิด ขนาด 1,000 ปอนด์ 3 ลูก
3. กระจังหน้ารถจักร 1 ชิ้น
4. รางรถไฟ 2 ชิ้น
5. ล้อรถจักร 1 ชิ้น

หลังจากได้ดำเนินการผูกทุ่นลอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2548 พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ ได้สั่งการให้ชุดประดาน้ำของกรมการทหารช่าง (กองกิจการพลเรือน. 2548) ประกอบด้วย จ.ส.อ.ยุทธนา ปภากรณ์ จ.ส.อ.ธีรวัฒน์ ไล้เลิศ จ.ส.อ.อนุชาลักษมีราต ส.อ.อภิชาต จงอริยตระกูล และ จ.ส.อ.สิทธิเดช เดชแพ ให้ดำน้ำลงไปถ่ายภาพหัวรถจักรใต้น้ำ เพื่อนำขึ้นมาประกอบการประชาสัมพันธ์ โดยได้กำหนดดำน้ำเวลา 12.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำนิ่งและกระแสน้ำต่ำสุด ปรากฏว่าการปฏิบัติงานในครั้งนี้ล้มเหลว เนื่องจากทัศนวิสัยใต้น้ำไม่ดี ขุ่นมาก

วันที่ 12 เมษายน 2548 เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้เขียนและทีมงานปฏิบัติงานใต้น้ำของกรมการทหารช่างชุดเดิม รวม 4 คน พร้อมด้วยนักดำเก็บกู้สิ่งของจากบ้านท่าเสาอีก 4 คนที่กล่าวมาแล้ว ได้รับมอบหมายอีกครั้งจาก พลโทชัยยุทธฯ เจ้ากรมการทหารช่างให้ลงไปดำน้ำเพื่อพิสูจน์ทราบรูปแบบของหัวรถจักร ลักษณะและสภาพการจม พร้อมกับถ่ายภาพหัวรถจักรคันนี้ ขึ้นมาเพื่อทำการประชาสัมพันธ์และนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ขั้นต้นเพื่อวางแผนต่อไป และเพื่อพิสูจน์ทราบให้ได้ว่า หัวรถจักรที่จมอยู่นี้เป็นรุ่นใด จากข้อมูลที่ได้รับมีอยู่ 2 รุ่น คือ รถจักรขนาดเล็ก รุ่น P-CLASS (KITSON/NORTH BRITISH,1917,1919) สร้างในประเทศอังกฤษ หรือ รถจักรขนาดเล็ก รุ่น C-56 (JAPAN) สร้างในประเทศญี่ปุ่น

วิธีที่พวกเราดำเนินการในครั้งนี้ คือการศึกษาจากแบบแปลนของรถจักรทั้งสองรุ่น ซึ่งจะมีลักษณะล้อขับ ล้อนำ และปล่องไฟที่แตกต่างกันอย่างไร หลังจากนั้นจึงดำน้ำลงไปพิสูจน์ทราบลักษณะที่คล้ายคลึง ซึ่งหากยืนยันได้ว่ารุ่นใดจมอยู่แล้ว พวกเราก็จะได้ข้อมูลของขนาด รูปร่าง และน้ำหนักที่แท้จริงของตัวรถจักรตามมาด้วย

การพิสูจน์ทราบยังล้มเหลวในวันนี้ เราแทบไม่ได้อะไรเลย น้ำไม่ลึกเท่าใดนัก ประมาณ 8-10 ม. กระแสน้ำเอื่อยๆ พื้นท้องน้ำเป็นทราย ทัศนวิสัยของน้ำค่อนข้างต่ำมองเห็นได้ไม่เกิน 10 ซม. แม้พวกเราจะนำไฟฉายใต้น้ำลงไปก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก พวกเราเหมือนคนตาบอด แต่ก็พยายามถ่ายรูปด้วยกล้องใต้น้ำขึ้นมาให้มากที่สุด แล้วจึงค่อยนำมาวิเคราะห์ นอกจากนั้นเรายังไปดำน้ำพิสูจน์ทราบลูกระเบิดที่ยังคงจมอยู่อีก 2 ลูก ก็เพียงแต่ได้ รูปคลำแล้วนำลักษณะขึ้นวิเคราะห์เช่นกัน

เรายังไม่ย่อท้อ เช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์พอดี คือ วันที่ 13 เม.ย.48 พวกเราลงดำน้ำกันอีกครั้งประมาณ 07.00 น.ซึ่งคำนวณแล้วว่าน้ำจะค่อนข้างนิ่งที่สุด จะได้ไม่มีกระแสน้ำ และฝุ่นตะกอนที่จะรบกวนการมองเห็นและเอื้อต่อการถ่ายภาพของพวกเรา ผลยังคงเหมือนเดิม แต่ในครั้งนี้ เราสามารถจำลองลักษณะการจมต่างๆ ว่าจมอยู่ในลักษณะใด ที่ความลึกเท่าใด หัวรถจักรวางตัวอย่างไร ดังภาพที่แสดงไว้ แต่พวกเราก็ยังไม่กล้าฟันธงระบุลงไปว่าเป็นหัวรถจักรรุ่นใด ในการดำน้ำครั้งนี้ พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ ได้ขอให้พวกเราพาท่านดำน้ำเพื่อลงไปสัมผัสหัวรถจักรคันนี้ด้วย

ในการสำรวจในครั้งนี้ พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง ยังได้เชิญ นายพลวัตร ชยานุวัชร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางกอบกุล นพอมรบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี เขต 1 นายสมศักดิ์ รัตนมุง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี นางศมานันท์ เหล่าวณิชวศิษฎ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรี กำนันเรืองศักดิ์ เลขวัฒนโรจน์ ประธานหอการค้าราชบุรี และ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ร่วมลงเรือสำรวจสถานที่บริเวณที่หัวรถจักรไอน้ำจมอยู่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ พร้อมนำเสนอโครงการกู้หัวรถจักรไอน้ำ ให้แก่ นายพลวัตร ชยานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวดราชบุรี และคณะ ได้รับทราบ ซึ่งทั้งหมดมีความเห็นชอบด้วยว่า จะแต่งตั้งคณะกรรมการของจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาต่อไป
รวบรวมโดย สุชาต จันทรวงศ์
บทความที่เกี่ยวข้อง

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

แล้วไงต่อไป ละคะคุณครูผู้พัน