วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้อค้นพบการเสียชีวิตของเสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) เมื่อ 2 ปีก่อน

หลังจากที่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553 โดยการตัดน้ำตัดไฟฟ้า งดการบริการขนส่งสาธารณะ และห้ามผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ ต่อมาเวลา 19:00 น. พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ถูกยิงที่ศรีษะด้วยอาวุธปืนสงครามที่หน้าสถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสีลม ตรงลิฟท์คนพิการ ด้านทางเข้า-ออกสถานีฝั่งสวนลุมพินี ใกล้กับลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ถูกนำส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว ก่อนจะย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระและเสียชีวิตในอีก 4 วันต่อมา 


ข้อค้นพบนี้ ผู้เขียนได้คัดลอกมาจากบางส่วนของ "รายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กรกฏาคม 2553-กรกฎาคม 2555" (ดูรายละเอียดและดาวน์โหลดข้อมูล)  และเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้อ่านควรอ่านบทความนี้ก่อน "เสธ.แดง-พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล..คนราชบุรี..ถูกปลิดชีพ" จะทำให้เรื่องราวชัดเจนยิ่งขึ้น

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านอาวุธและกระสุนปืนจากต่างประเทศ พล.ต.ขัตติยะ  สวัสดิผล ถูกยิงด้วยอาวุธปืนสงครามที่ใช้กระสุนความเร็วสูงและเป็นการยิงระยะไกล  แต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นกระสุนชนิดใด เนื่องจากบาดแผลกระสุนนั้นสัมพันธ์กับระยะยิง บาดแผลดังกล่าวอาจเกิดจาก
  • กระสุน 5.56 มม.Nato หรือ 7.62 มม.Soviet หรือ Nato กรณียิงห่างเกิน 200 ม.
  • กระสุน 5.7X28 มม.ปืน P90 กรณียิงห่างไม่เกิน 200 ม.


ความเห็นของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง
  • ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นกระสุน .308 วินเชสเตอร์ หรือ 5.7X28 มม.ปืน P90

ทิศทางการยิง
พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกยิงขณะกำลังยืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสีลม ตรงหน้าลิฟท์ผู้พิการ ด้านทางเข้า-ออก ฝั่งลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 โดยหันหน้าไปทางถนนพระราม 4 ซึ่งจากการตรวจสอบของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เห็นว่ามีความเป็นไปได้ว่า ทิศทางการยิงมาจากสถานที่ซึ่งมีความสูงไม่น้อยกว่า 60 ม. เช่นอาคาร ภปร.ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  และผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าทิศทางการยิงมาจากอาคารสูงทางด้านทางด้านทิศตะวันตกของจุดที่ พล.ต.ขัตติยะฯ ยืนอยู่ เช่น อาคารสีลมเซ็นเตอร์ (อาคาร Robinson เดิม) อาคาร Crow Plaza อาคารซิลลิค และ อาคาร ภปร.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ ยิงมาจากอาคารสีลมพลาซ่า


ซึ่งอาคารต่างๆ ดังกล่าวทั้งหมดอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.2553 หลังจากที่ ศอฉ.ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปควบคุมสถานการณ์บนถนนสีลม ถนนพระรามที่ 4 ด้านโรงแรมดุสิตธานี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และแยกอังรีดูนังต์ พร้อมกับมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมพื้นที่สูงข่มรอบจุดวางกำลังและรอบแยกราชประสงค์  นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่เข้าไปพักอาศัยและปฏิบัติการอยู่บนอาคารสูงบางแห่งที่อยู่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ เช่น อาคารชาญอิสระ และอาคารซีพีทาวน์เวอร์ เป็นต้น



ภาพที่ 1

















ภาพที่ 1 เป็นภาพจาก Google Earth โดยผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านอาวุธ และกระสุนปืนจากต่างประเทศ แสดงสถานที่เกิดเหตุและอาคารสูง ทางด้านทิศตะวันตกของจุดที่ พล.ต.ขัตติยะฯ ถูกยิง ในบริเวณสีน้ำเงินจากการคำนวณทิศทาง การหันศรีษะในระยะ 30 องศา บริเวณเส้นสีแดง คือ ทิศทางกระสุนที่เป็นไปได้ กรณี พล.ต.ขัตติยะฯ หันหน้าตรงไปทางถนนพระรามที่ 4  


ภาพที่ 2















ภาพที่ 2 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แสดงภาพจำลองวิถีกระสุนปืน ตามตำแหน่งการยืนของ พล.ต.ขัตติยะฯ ตามภาพถ่ายที่มีบุคคลถ่ายภาพไว้ เมื่อเวลา 18:56 น.ในวันเกิดเหตุ โดยใช้กล้องถ่ายภาพแบบ 3D เลเซอร์

ยิงสวนกลับ
ทันทีหลังจาก พล.ต.ขัตติยะฯ ถูกยิง มีผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศพบเห็นชาย 3 คน คนหนึ่งถืออาวุธสงคราม อีก 2 คนไปหยิบอาวุธปืนสงครามจากถุงดำซึ่งอยู่ในเต็นท์บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 โดยคนหนึ่งได้ใช้อาวุธปืนสงครามดังกล่าวยิงไปทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ต่อมาภายหลังมีผู้ต้องหารายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแล้ว ให้การรับสารภาพว่าเป็นคนสนิทของ พล.ต.ขัตติยะฯ และเมื่อ พล.ต.ขัตติยะฯ ถูกยิง ตนเป็นผู้ใช้อาวุธ ปลย.ชนิด ทราโว ยิงไปที่โรงแรมดุสิตธานี

ฟ้องคดีอาญาทหาร
พฤติกรรมของ พล.ต.ขัตติยะฯ ซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล ซึ่งยังอยู่ในประจำการที่ได้ออกมาต่อต้านรัฐบาลและผู้บังคับบัญชาในกองทัพอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง ทั้งในด้านคำพูดและการกระทำนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลกับนายทหารพระธรรมนูญคนหนึ่งที่ร่วมสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการทางวินัย พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล พบว่า ไม่มีกฏหมายที่ให้อำนาจกองทัพใช้มาตรการลงโทษทางวินัยแก่นายทหารระดับนายพลได้ เช่น การขัง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางวินัยและทางอาญามีมติว่า "พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงจริง จึงให้กองทัพปลดออกจากราชการและให้ถอดยศ" และเนื่องจากพบว่า พล.ต.ขัตติยะฯ มีความผิดตามกฏหมายอาญาทหาร จึงได้ส่งอัยการทหารดำเนินการฟ้องคดีอาญาทหารต่อศาลทหารต่อไป  แต่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ได้เสียชีวิตก่อน คดีจึงระงับไป

*****************************************
ชาติชาย คเชนชล : 19 กันยายน 2555