วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ปิดคดี ส.ส.กอบกุล นพอมรบดี -ประหารชีวิต ส.ท.ต่าย

ช่วงค่ำวันที่ 27 พ.ค. 2549 นางกอบกุล นพอมรบดี อดีต ส.ส.ราชบุรี เขต 1 พรรคไทยรักไทย ถูกยิงด้วยอาวุธปืนเอ็ม 16  เข้าที่ศรีษะเสียชีวิตคาที่กว่า 20 นัด   บนรถกระบะมิตซูบิชิ 4 ประตู หมายเลขทะเบียน ณข 555 ราชบุรี  ขณะที่ติดไฟแดง บริเวณสี่แยกเขางู (ริมถนนเพชรเกษม) ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ส่วน นายชาตรี ศุภารานันท์ อายุ 53 ปีคนขับรถ บาดเจ็บสาหัส และ จ.ส.ต.สายชล แก้วสายทอง อายุ 35 ปี ผบ.หมู่งานสืบสวนสอบสวน สภ.ราชบุรี บาดเจ็บเล็กน้อย 


ภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์
ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/region/160331

จากการสอบสวนเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจพุ่งประเด็นสังหารไปที่ ความขัดแย้งเรื่องการเมืองในพื้นที่ จ.ราชบุรี เนื่องจาก นางกอบกุลฯ  ได้ออกหน้าสนับสนุนน้องชายร่วมสายโลหิต คือ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ จนสามารถชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ราชบุรี และความขัดแย้งธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ นางกอบกุลฯ  คอยดูแลอยู่ในพื้นที่

นางกอบกุล  นพอมรบดี เป็น ส.ส.ที่ทำงานหนัก ทุ่มเทและใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ฐานเสียงแน่น เพราะเติบโตมาจาก ส.จ. จนเป็นนายก อบจ.คนแรกของ จ.ราชบุรี ประกอบกับเป็นญาติของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยิ่งทำให้ฐานเสียงของนางกอบกุลฯ  แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ต่อมา นางกอบกุลฯ  ได้สร้างตลาดการเกษตรขึ้น เพื่อรวบรวมบรรดาหัวคะแนน ฐานเสียงที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายที่สนับสนุน ไทยรักไทยไว้ด้วยกัน โดยที่พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ ถูกขับไล่มาจากตลาดศรีเมือง มีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ ส.ว.ราชบุรี เป็นเจ้าของ ซึ่งทางการเมืองถือว่ายืนอยู่กันคนละขั้วกับนางกอบกุลฯ  และแน่นอนว่าหนีไม่พ้นความขัดแย้ง

ต่อมา พนักงานสอบสวนกองปราบปรามฯ  ซึ่งรับโอนคดีมาทำ ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้รวม 6 คน คือ
  1. นายวิญญู รัตนวรรณี หรือเลิฟ อายุ 30 ปี คนขับรถยนต์กระบะโตโยต้า รุ่นวีโก้
  2. นายอานนท์ พันธรัตน์ หรือเอ็ม
  3. นายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ หรือ ต่าย  ส.ท.เมืองราชบุรี ผู้จัดการตลาดศรีเมืองของนายนภินทรฯ  ทำหน้าที่มือปืน
  4. นายสงัด พุ่มเพ็ง หรือเปี๊ยก สารวัตรกำนัน ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี ที่ชิงกินยาฆ่าตัวตายหลังทราบว่าถูกออกหมายจับ โดยทิ้งข้อความเขียนด้วยถ่านไม้ไว้บนข้างฝาบ้านว่า "คดีนี้ไม่เกี่ยวกับ ส.ว.นภินทร"
  5. นายจำรณ อ่วมทอง กำนัน ต.หนองกะเจ็ด อ.บ้านราช จ.เพชรบุรี 
  6. นายศุภฤษก์ อ่วมทอง หรือเก่ง บุตรชายนายจำรณ
ซึ่งต่อมาพบหลักฐานภายหลังว่า นายจำรณ และนายศุภฤกษ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงปล่อยตัวไป ทำให้เหลือผู้ต้องหาในคดีนี้ 3 คน

วันที่ 14 ก.ค. 2549 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามฯ ยังออกหมายเรียก นายนภินทร ศรีสรรพางค์ มารับทราบข้อกล่าวหาจ้างวานฆ่า นางกอบกุลฯ  ด้วย  แต่อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญามีคำสั่งไม่ฟ้อง นายนภินทรฯ  โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจาก คณะทำงานพิจารณาพยานหลักฐาน ที่ปรากฏในสำนวนของพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ประกอบคำให้การเพิ่มเติมของพยานบุคคลที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น และอดีต ส.ว. จำนวนเกือบ 25 ปาก เห็นว่าพยานหลักฐานที่ปรากฏในขณะนี้ ยังไม่พอเพียงที่จะพิสูจน์เอาผิด และนำคดียื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเอาผิดกับผู้ต้องหาได้ ดังนั้น คณะทำงานอัยการจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

คดีนี้เงียบหายไปจากการรับรู้ของสังคมนานถึง 5 ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2554  ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ว่า  จำเลยทั้ง 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นโทษหนักสุด คือประหารชีวิต ผลจากคำพิพากษา สรุปได้ดังนี้
  1. นายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ หรือ ส.ท.ต่าย จำเลยที่ 1 พิพากษาประหารชีวิต
  2. นายวิญญู รัตนวรรณี หรือเลิฟ จำเลยที่ 2 พิพากษาประหารชีวติ แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้ตลอดชีวิต
  3. นายอานนท์ พันธรัตน์ หรือเอ็ม จำเลยที่ 3 พิพากษาประหารชีวิต แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้ตลอดชีวิต



อ่านบทความย้อนหลัง

ที่มาข้อมูล
ไทยรัฐออนไลน์. (2554). 5 ปีสังหาร ส.ส.กอบกุล ถึงวันศาลพิพากษาประหาร 'ส.ท.ต่าย'.[Online]. Available :http://www.thairath.co.th/content/region/160331. [2554 เมษายน 2 ].