วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตำรวจบ้านโป่งปะทะกับทหารญี่ปุ่น


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสือพิมพ์มหาชนและเจินฮว่าเป้าฉบับใต้ดิน ได้รายงานเหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ว่า ในวันที่ 18 ธันวาคม 2485 ทหารญี่ปุ่นที่ควบคุมการสร้างทางรถไฟ อยู่ที่วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้ใช้ฝ่ามือตบหน้าพระภิกษุไทยรูปหนึ่งอย่างป่าเถื่อน คนไทยกำลังสร้างทางอยู่ ณ บริเวณนั้นได้เข้าห้ามปรามต่อว่าทหารญี่ปุ่นก็ถูกทหารญี่ปุ่นใช้ดาบปลายปืนไล่ทิ่มแทงและไล่ยิงคนงานจนได้รับบาดเจ็บล้มตายหลายคน

เมื่อนายอำเภอกับหัวหน้าสถานีตำรวจบ้านโป่ง และหัวหน้าสารวัตรทหารไทยทราบเหตุก็พากันไปห้ามปรามและหยุดยั้งการใช้อำนาจป่าเถื่อนของทหารญี่ปุ่นเหล่านั้น ก็กลับถูกทหารญี่ปุ่นใช้ปืนยิงกราดเข้าใส่

ต่อมากองทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ในค่ายที่จังหวัดกาญจนบุรี ทราบข่าวก็เคลื่อนกำลัง 3 คันรถ ไปล้อมสถานีตำรวจอำเภอบ้านโป่ง จึงเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น ทหารญี่ปุ่นใช้ปืนกลยิงกราดอย่างดุเดือด เป็นเหตุให้ตำรวจและชาวบ้านบาดเจ็บล้มตายกว่าร้อยคน ฝ่ายญี่ปุ่นตายและบาดเจ็บ 4 คน เมื่อนายอำเภอกับหัวหน้าสถานีตำรวจ พร้อมกับนายทหารญี่ปุ่น ยศนายพันไปช่วยกันระงับการปะทะ เหตุการณ์จึงสงบลง ทางการญี่ปุ่นได้กล่าวร้ายป้ายสีว่า กรณีนี้เกิดจากการยุแหย่ของชาวจีนที่เกลียดชังญี่ปุ่น

เหตุการณ์กรณีบ้านโป่ง ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายไทยกับกองทัพญี่ปุ่นอยู่ในสภาพตึงเครียดมาก ผู้แทนกองทัพบกญี่ปุ่นประจำไทย ได้ส่งหนังสือประท้วงถึง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยความเห็นอันรุนแรง เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินคดีต่อคนไทยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ทำให้ทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายอย่างเฉียบขาด พร้อมทั้งขู่สำทับด้วยว่า ญี่ปุ่นจะรอดูผลการปฏิบัติของฝ่ายไทย แล้วจึงกำหนดท่าทีของฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นต่อประเทศไทยในภายหลัง ในอนาคตถ้าหากเกิดคดีเช่นนี้อีก ฝ่ายญี่ปุ่นจะถือว่าเป็นการขัดขวางต่อการดำเนินการยุทธของกองทัพญี่ปุ่น และจะดำเนินการโดยพลการในสถานที่นั้นๆ โดยประเทศไทยต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ภายใต้การคุกคามของทหารญี่ปุ่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการพิจารณาหาทางป้องกันเหตุแทรกแซงระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2485 และได้กำหนดมาตรการที่ฝ่ายไทยนำมาใช้เพื่อป้องกันเหตุแทรกแซงทางการเมือง คือ

  1. สั่งหน่วยสารวัตรไทย ที่ตั้งค่ายอยู่บริเวณใกล้เคียง อำเภอบ้านโป่งถอนกำลังกลับเพื่อป้องกันเหตุลุกลาม
  2. ให้จัดการย้ายข้าหลวงประจำจังหวัดราชบุรี นายอำเภอบ้านโป่ง ผู้กำกับการตำรวจภูธรราชบุรี นายตำรวจ ตลอดจนนายสิบและพลตำรวจ จากสถานีบ้านโป่งประมาณครึ่งหนึ่งไปราชการที่อื่น และให้โยกย้ายสับเปลี่ยนข้าหลวงประจำจังหวัดกาญจนบุรี และนายอำเภอต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรีด้วย
นอกจากนี้ ยังสั่งโยกย้าย ร.ต.ต.ศรีสุข อุ่นคำ นายตำรวจผู้รับผิดชอบบังคับบัญชาที่สถานีบ้านโป่ง ให้ไปอยู่ที่อำเภอกาฬสินธ์ จังหวัดมหาสารคาม
ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม 2485 มีประกาศให้ อำเภอบ้านโป่ง, ลูกแก, ท่าเรือน้อย, อำเภอท่าม่วง และทุกอำเภอในจังหวัดกาญจนบุรีเป็นเขตทหาร ให้ชาวต่างด้าวย้ายออกจากเขตห้ามทางทหารภายใน 10 วัน ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก หรืออาจมีโทษถึงตายในข้อหาก่อความไม่สงบ

การประกาศเขตห้ามทางทหารเช่นนี้ อีก 2 เดือนต่อมายังได้ขยายไปใช้ใน 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอีกด้วย ซึ่งได้ทำให้ชาวจีนในเขตเหล่านี้ นับจำนวนหลายแสนคนต้องอพยพลี้ภัยและได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดชาตินิยม ของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ร่วมกับญี่ปุ่นต่อต้านชาวจีนเป็นอย่างดี.

ที่มา :
ข้อมูล : ดำริห์ เรืองสุธรรม. (2544). ขบวนการแรงงานไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2. กรุงเทพ ฯ : สุขภาพใจ. (หน้า 106-107)
ภาพ :
-
http://statics.atcloud.com/files/comments/54/542614/images/1_original.jpg
-
http://www.reurnthai.com/rtimages/RW2101x6.jpg
-http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/555/9555/images/IMG_7803.jpg

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง..ไพร่แดงบ้านโป่ง

พลิกปูม "อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง" ว่าที่แกนนำรุ่น 2 ของเสธ.แดง
นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงประเภทชอบความรุนแรง และก่อเหตุวุ่นวายให้บ้านเมืองไทยหลายประการ ขณะนี้ (21 พ.ค.2553) ถูกออกหมายจับเป็นผู้ก่อการร้ายและกำลังหนีอยู่ นายอริสมันต์ฯ เป็นชาว ต.หนองกบ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นี้เอง ผู้จัดทำจึงได้พยายามรวบรวบเรื่องราวของนายอริสมันต์ ไว้เพื่อให้ชาวราชบุรีได้รับทราบและจำไว้เป็นอุทธาหรณ์ สอนคนรุ่นต่อๆ ไป เนื้อหาบทความเกี่ยวกับนายอริสมันต์ฯ ด้านล่างนี้ ได้คัดลอกมาจาก ห้องสมุดออนไลน์ My First Info.Com จึงต้องขอบคุณผู้ที่เรียบเรียงและผู้ที่เป็นเจ้าของไว้ ณ ที่นี้ด้วย

"เวลานี้ หากเอ่ยชื่อ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, สุพร อัตถาวงศ์, ขวัญชัย ไพรพนา หรือพายัพ ปั้นเกตุ เชื่อแน่ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมที่มีใจเป็นธรรมคงต้องส่ายหน้าพร้อมโบกมือบ๊ายบายเหมือนได้กลิ่นขยะเน่าๆ โชยมาเตะจมูก ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากวีรกรรมที่คนกลุ่มนี้ได้สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง ด้วยการละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิคนอื่น พร้อมยังพยายามยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในทุกสถานที่ที่คนพวกนี้เคลื่อนขบวนไป จนบางคนขนานนามว่า “ฮาร์ดคอร์รุ่นใหม่ในม็อบแดง” ทั้งที่แกนนำหลักยืนยันมาตลอดว่าจะเคลื่อนไหวโดยยึดแนวทางสันติวิธีเหตุการณ์ที่ตอกย้ำให้เห็นภาพของการยั่วยุ ส่อให้เกิดความรุนแรงจากผลงานของกลุ่มคนพวกนี้

ล่าสุด เป็นกรณีนำมวลชนบุกเข้าไปในรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 เมษายน และการบุกรุกเข้าไปในสำนักงาน กกต.ที่ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งแกนนำที่พามวลชนไปตามสถานที่ที่กล่าวมานี้ มีการประกาศว่าถ้าไม่ได้ตามที่เรียกร้อง จะมีการจัดชุดไล่ล่าตัวบุคคลเลยทีเดียวและในรายชื่อแกนนำที่เอ่ยมาข้างต้นนั้น ขอขยายลึกลงไปเพียงรายละเอียดของ อดีตนักร้องเจ้าของฉายา “นักร้องเสียงอมฮอลล์” อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง หรือชื่อเดิม “ศักดา พงศ์เรืองรอง” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

จากอดีตนักร้องที่มีชื่อเสียง ผกผันเข้าสู่เส้นทางการเมือง จนกลายมาเป็นสมุนรับใช้นักโทษอาญาที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้อย่างไร รวมถึงพฤติกรรมและการปราศรัยยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ทั้งการบุกทำลายการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา เมื่อปี 2552, การประกาศตามล่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, การขู่เผาบ้านนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กระทั่งล่าสุด วันนี้นำกำลังม็อบแดงบุกเข้าไปในรัฐสภา

นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง หรือ “กี้ร์” เป็นคนไทยเชื้อสายฮินดู อันเป็นที่มาของชื่อที่มาจากภาษาฮินดู เขาเกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2507 ที่บ้านเลขที่ 33/1 ถ.บ้านโป่ง-บ้านยาง ต.หนองกบ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นบุตรของนายเฮง กับ นางน้ำผึ้ง อดีตนักแสดงลิเก

เรียนจบมัธยมจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ จากนั้นไปต่อปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จบการศึกษาในปี 2531 ต่อมา ได้ศึกษาต่อกระทั่งจบปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2538

หลังจบปริญญาตรีได้ทำงานเป็นทนายฝึกหัด เมื่อทำได้ปีกว่าก็มีปัญหาเรื่องเงิน จึงหันมาทำธุรกิจของตัวเอง โดยเปิดขายเสื้อผ้าแบกะดินแถวย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปด้วย แต่ไปไม่รุ่งจึงเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเซลส์แมนและฝ่ายจัดซื้อ ขณะเดียวกัน ก็เริ่มเสนอเทปตัวอย่างเพลงที่แต่งเองให้กับค่ายเทปต่างๆ

กระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2532 นายอิทธิ พลางกูร โปรดิวเซอร์ของค่ายเพลงอาร์.เอส. โปรโมชั่น ได้ติดต่อให้ไปพบ และนำมาซึ่งการเซ็นสัญญาเป็นนักร้องค่ายเพลงแห่งนี้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2532 จากนั้น อริสมันต์ก็ได้ออกอัลบั้ม กลายเป็นศิลปินเดี่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของสาธารณชน ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวและลีลาในการร้องเพลง จนได้รับการตั้งฉายาว่า “นักร้องอมฮอลล์” โดยมีเพลงฮิตมากมาย อาทิ ไม่เจียม, เธอลำเอียง, ยอมยกธง, ทัดทาน, ใจไม่ด้านพอ, เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง, คนข้างหลัง, รักเธอเสมอใจ เป็นต้น

ระหว่างนั้น เกิดเหตุวุ่นวายทางการเมือง อริสมันต์ได้ประกาศตัวเข้าร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมบางส่วนว่า ทำไปเพราะต้องการโปรโมตอัลบั้มใหม่ เนื่องจากหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬสงบลง เพียงหนึ่งเดือนอัลบั้มใหม่ของกี้ร์ก็ออกวางแผง แต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธข้อกล่าวว่า มาด้วยความจริงใจในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนโกหก“ลองคิดดู ถ้าครั้งนี้แพ้อะไรจะเกิดขึ้นกับผม ผมอาจจะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ แล้วยังญาติพี่น้องครอบครัวอีก ผมต้องสูญเสียความสุขสบาย เงินเป็นล้านๆ ในเมืองไทย และสิ่งที่รักที่สุดคือ การร้องเพลง มันคุ้มไหม... กับการโปรโมตเทปวิธีนี้” อริสมันต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองยุติลง อริสมันต์ต้องเดินทางไปพักอยู่อเมริกาเป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากเหตุผลในเรื่องของความปลอดภัย ก่อนที่เจ้าตัวจะกลับมาเล่นคอนเสิร์ต กระทั่งเกิดเหตุคนร้ายขว้างระเบิดใส่เวทีที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 9 คน จากนั้น อริสมันต์ก็หันเหเข้าสู่การเมือง เป็นผู้สนับสนุนพรรคพลังธรรม สมัยพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ต่อเนื่องมาถึงยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ระหว่างนั้นก็ตั้งบริษัท Sea Man Industrial THAILAND ผลิตสีจราจร และบริษัท พงศ์รุ่งเรือง ก่อสร้าง ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก่อนจะได้รับโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในนามพรรคพลังธรรม โดยลงในเขต 10 กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งทั่วไป 2 กรกฎาคม 2538 แต่การเลือกตั้งครั้งต่อมา 17 พฤศจิกายน 2539 อริสมันต์ต้องสูญเสียที่นั่งให้กับพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็น ส.ส.สอบตก แถมปีต่อมายังมี นางทิพากร พงศ์เรืองรอง ออกมาแฉว่าเป็นภรรยาและมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน ทำให้กระทบชื่อเสียงพอสมควร อย่างไรก็ตาม อริสมันต์ได้ออกมาปฏิเสธว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ไม่เคยรู้จักนางทิพากร และจะแจ้งความดำเนินคดีนางทิพากรในข้อหาแจ้งความเท็จ แอบอ้างใช้นามสกุลของตน และหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

กระทั่งปี 2544 อริสมันต์ติดตามพ.ต.ท.ทักษิณ มาอยู่พรรคไทยรักไทย และลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.อีกครั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 67 คราวนี้ได้เป็นทั้ง ส.ส. เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร และเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายประชา มาลีนนท์ มท.2) พร้อมบทบาทในคณะทำงานการจัดระเบียบสังคม โดยรับหน้าที่ผู้ประสานงาน ซึ่งสร้างความฮือฮาเป็นข่าวดังจากกรณีนำเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นาย เข้าตรวจแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีย่านอาร์ซีเอ อย่าง “รูท 66” จนนักท่องแตกฮือ มีคนดังถูกจับตรวจฉี่เป็นสีม่วงหลายราย เมื่อนายประชาถูกโยกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อริสมันต์ก็ตามไปเป็นเลขานุการด้วย แต่ทำงานได้ไม่กี่เดือนก็ย้ายตามนายประชาที่ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ซึ่งการอยู่กระทรวงกีฬาครั้งนี้ เจ้าตัวแสดงบทบาทองครักษ์พิทักษ์นาย (ประชา) อย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะกรณีโจมตีกลุ่มของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ที่ขัดแย้งกับกลุ่มของนายประชาในเรื่องแผนการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่ก็ถูกโต้กลับด้วยหลักฐานและข้อมูลที่น่าเชื่อถือกว่า ทำให้งานนี้เจ้าตัวเสียรังวัดไปพอสมควร

"ขอชี้แจงว่าข้อเท็จจริงเรื่องการล่าช้าเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวนั้น เนื่องจาก ททท.ได้ขอเงินงบประมาณกลางจากนายกฯ ทักษิณ 1,500 ล้านบาท และเงินจำนวนนี้นายกฯ ทักษิณได้มีหนังสือเขียนด้วยลายมือสั่งให้นายสุวัจน์ และนายสมคิดช่วยกันดูอีกครั้ง และได้เชิญผู้ว่า ททท.มาชี้แจงว่าการจะใช้เงิน 1,500 ล้านบาท ใช้ทำอะไรบ้าง ขอย้ำถึงนายอริสมันต์ว่าการทำแบบนี้นอกจากไม่รู้ข้อเท็จจริงแล้วยังทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพพจน์รัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างนายสุวัจน์กับนายประชาเป็นไปตามปกติ ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน แม้แต่นายประชา เองก็ยังเคยพูดว่านายอริสมันต์น่าจะไปอยู่ปักษ์ใต้ เพราะมีแต่ทำให้เกิดเรื่อง และทำสงครามกับคนนั้นคนนี้ตลอด" นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองและเลขานุการ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวตอบโต้อริสมันต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของเจ้าตัวในวันนี้

นอกจากบทพิทักษ์นายน้อย (ประชา) แล้ว อริสมันต์ยังทำหน้าที่ในการปกป้องนายใหญ่ (พ.ต.ท.ทักษิณ) จากฝ่ายตรงข้ามได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อนายใหญ่ถูกโจมตีจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เจ้าตัวในฐานะที่เคยเป็นลูกพรรคพล.ต.จำลอง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ พล.ต.จำลองว่า "รู้สึกผิดหวังกับบทบาทของ มหาจำลอง ออกมาขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ทราบว่า พล.ต.จำลอง มีมาตรฐานสูงขนาดไหน ไม่กินเนื้อ ไม่กินเหล้า ไม่นอนกับภรรยา ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำงานเพื่อบ้านเมืองและหลีกปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน จึงขายหุ้นทิ้ง ก็ถูกหาว่าหนีภาษีบ้าง เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง พล.ต.จำลองใจร้อนเกินไป มากดดันไล่ผู้นำประเทศเช่นนี้ เสียทั้งบรรยากาศการลงทุน การท่องเที่ยว ถือเป็นกรรมของประเทศ ซึ่งจะไปได้ดีอยู่แล้ว ก็ต้องถูกคนมาถ่วงไว้ ...วันนี้ พล.ต.จำลองไปคบกับคนที่ผิดหวัง อกหัก สูญเสียประโยชน์จากรัฐบาล หรือโกงประชาชนแล้วหนีไปเมืองนอก การที่ พล.ต.จำลองไปอยู่ด้วย สร้างความสะใจให้กับคนกลุ่มนี้ และยิ่งการชุมนุมที่สนามหลวงวันที่ 26 ก.พ. หากมีการปะทะกันไม่ทราบว่า พล.ต.จำลองกับอีก 27 องค์กรจะรับได้หรือไม่ เชื่อว่าคงรับไม่ได้ และคงโยนบาปให้รัฐบาลแน่" นายอริสมันต์กล่าว

นอกจากพยายามดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามแล้ว เจ้าตัวยังรับบทเป็นหนึ่งในทีมสร้างภาพให้ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยการจัดเวทีและป้ายคัตเอ๊าต์ต่างๆ เชียร์นายกฯ ขณะนั้น ซึ่งทีมงานดังกล่าวประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนายภูมิธรรม เวชยชัย แม้จะพยายามสร้างภาพให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณเพียงใด แต่ข้อโจมตีต่างๆ ที่ถาโถมเข้าใส่ผู้นำประเทศขณะนั้นกลับไม่ได้รับการอธิบายให้สังคมได้กระจ่างชัด มิหนำซ้ำฝ่ายรัฐบาลยังเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 โดยที่พรรคการเมืองใหญ่อีก 3 พรรคบอยคอตต์การเลือกตั้ง และนำมาซึ่งคดียุบพรรคไทยรักไทยจากการจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน คนของฝ่ายรัฐบาลก็ใช้วิธีการจัดม็อบชนม็อบ เพื่อรักษาอำนาจไว้กับตัวเอง จนเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายหนุนกับฝ่ายต้านรัฐบาล และมีบางครั้งที่ฝ่ายรัฐเสมือนจงใจให้ฝ่ายหนุนเข้าทำร้ายฝ่ายต่อต้าน โดยที่มิได้ห้ามปรามในที่สุดก็นำมาสู่เหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เดินทางกลับเข้าประเทศ หลังไปประชุมที่สหประชาชาติ ขณะที่บรรดาขาใหญ่ในพรรคไทยรักไทยต่างถูกจำกัดพื้นที่ อริสมันต์เป็นคนแรกๆ ที่ร่วมกับกลุ่มของนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เดินทางไปเยี่ยม พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ และนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่ถูกคณะรัฐประหารควบคุมตัว

ต่อมา เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คนเป็นเวลา 5 ปี อริสมันต์ถึงกับแต่งเพลง "ปลุกใจ" มีใจความว่า "ไทยรักไทยๆ พรรคที่มีหัวใจคือประชาชนๆ ทักษิณผู้นำยุคใหม่ ที่พาเมืองไทย สู่ระดับสากล กล้าคิดค้นทำนอกกรอบ เล่นตามระบอบ มีประสิทธิผล ให้โอกาส สร้างแหล่งทุนชุมชน คาราวานแก้จน ต้องทำตามสัญญา ให้ที่ดิน ไร่เกษตรแปลงนา คนดีขึ้นมา ได้ทำกินพอเพียง"

จากนั้นในเดือนมิถุนายน 2550 ก็เข้าร่วมกับ "กลุ่มคนรักทักษิณ ไม่เอาเผด็จการ" และกลุ่มพีทีวี (ต่อมาคือกลุ่ม นปช.) ซึ่งประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นพ.เหวง โตจิราการ, นางพิมพา จันทร์ประสงค์, นายเอกพร รักความสุข และนายมานิตย์ จิตจันทร์กลับ เพื่อปลุกระดมให้คนเข้าร่วมต่อต้าน คมช. (คณะรัฐประหาร) โดยเคลื่อนไหวในย่านต่างๆ ของ กทม. ซึ่งอริสมันต์เป็นแกนหลักในการนำรถขบวนปราศรัยโจมตีทหารและ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จนเกิดการเผชิญหน้าหลายครั้ง

การต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านการรัฐประหารแห่งชาติ (นปช.) ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง อริสมันต์ในฐานะแกนนำคนหนึ่ง เป็นที่รู้จักของผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนจากบทบาทการปราศรัยที่ดุเดือด หยาบคาย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง จนถูกจัดให้เป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์คนหนึ่ง

เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม 2550 เจ้าตัวก็ลงสมัครในนามพรรคพลังประชาชน (นอมินีพรรคไทยรักไทย) ในเขต 12 กรุงเทพมหานคร แต่สอบตกอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ชัยชนะยังเป็นของพรรคพลังประชาชนอย่างถล่มทลาย ได้จัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ขณะที่อริสมันต์ได้รับรางวัลจากการต่อสู้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์) (20 กุมภาพันธ์ 2551)

ต่อมา นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะพิษการจัดรายการชิมไปบ่นไปขัดต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและน้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนอริสมันต์ได้รับตำแหน่งใหม่ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) รัฐบาลนายสมชายอยู่ได้ไม่นานพรรคพลังประชาชนก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค จากคดีซื้อเสียง ทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เมื่ออดีตพรรคร่วมรัฐบาลหันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สร้างความไม่พอใจให้กลับกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่แสดงออกด้วยการจัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลใหม่อย่างต่อเนื่อง

การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในการต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ดำเนินมาถึงช่วงเดือนเมษายน 2552 ก็เกิดเหตุรุนแรงขึ้น เมื่อรัฐบาลได้จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับคู่ร่วมเจรจาขึ้นที่พัทยา จ.ชลบุรี กลุ่ม นปช.ซึ่งมีอริสมันต์เป็นแกนนำได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนอาเซียน แต่เกิดการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อน้ำเงินที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จนเหตุการณ์บานปลาย และอริสมันต์ได้นำผู้ร่วมชุมนุมบุกเข้าในสถานที่ประชุมจนทำให้ผู้นำของชาติสมาชิกและคู่เจรจาเสี่ยงต่ออันตรายในชีวิต รัฐบาลในฐานะเจ้าภาพต้องเลื่อนการประชุมออกไปไม่มีกำหนด พร้อมกับประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์แต่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับตอบโต้ด้วยความรุนแรง จนเกิดเหตุการณ์สงกรานต์เลือดที่กรุงเทพฯ มีการบุกเข้าทำร้ายขบวนรถของนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกฯ การเผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการและเอกชน

ขณะที่อริสมันต์ก็ถูกตำรวจจับกุมตัวที่บ้านพักย่านตลิ่งชัน ขณะพยายามปีนหนีออกหน้าต่าง และถูกควบคุมด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังจังหวัดราชบุรี แต่ต่อมาศาลอนุมัติให้ประกันตัวไป และเจ้าตัวยังคงเคลื่อนไหวนับไล่รัฐบาลเรื่อยมา

จนกระทั่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ทำให้กลุ่ม นปช.เพิ่มมาตรการตอบโต้รัฐบาล ด้วยการชุมนุมใหญ่เพื่อหวังโค่นล้มรัฐบาลให้ได้ก่อนสงกรานต์ที่จะถึงนี้การชุมนุมดำเนินมาติดต่อกันหลายสัปดาห์ แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมได้เพิ่มมาตรการกดดันรัฐบาลขึ้นเรื่อยๆ โดยมีข้อเสนอให้ยุบสภาฯ ภายใน 15 วัน แต่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้มีเหตุผลซ่อนเร้นและไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีการชุมนุมอีกหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลจึงเสนอเงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญและยุบสภาฯ ใน 9 เดือน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน

ทางกลุ่ม นปช.จึงใช้ยุทธวิธีดาวกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวและการปราศรัยของกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดงในบางครั้งก็เกิดเหตุวุ่นวายสร้างผลเสียในแง่ลบ จนทำให้สังคมมองว่า เป็นการใช้สิทธิเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่แกนนำหลักมักจะให้สัมภาษณ์ว่า เป็นฝีมือของแดงเทียมหรือแดงปลอม หรือบางครั้งก็อ้างว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลที่สร้างสถานการณ์ หรือไม่ก็มือที่สามแต่กับเหตุการณ์ที่อริสมันต์และกลุ่มฮาร์ดคอร์อย่าง สุพร อัตถาวงศ์, ขวัญชัย ไพรพนา และพายัพ ปั้นเกตุ นำผู้ร่วมชุมนุมไปกดดันรัฐบาลตามสถานที่ต่างๆ โดยปราศรัยยั่วยุด้วยถ้อยคำหยาบคาย บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน และบางครั้งก็ประกาศจัดตั้งกองกำลังไล่ล่าบุคคลผู้มีอำนาจในรัฐบาล ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ กกต.และที่รัฐสภาที่ผ่านมา แล้วแกนนำหลักของกลุ่ม นปช.จะปฏิเสธว่าคนพวกนี้เป็นแดงเทียมอีกหรือไม่ ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐเอง ถึงเวลาหรือยังที่จะบังคับใช้กฎหมายกับคนพวกนี้ เพื่อจำกัดสิทธิไว้ไม่กระทำการจนอาจนำไม่สู่ความรุนแรงเหมือนเช่นอดีตก็เป็นได้ล่าสุด หลังจากนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง โดยแลกกับการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 และให้กลุ่ม นปช.ยุติการชุมนุม ช่วงแรกดูเหมือนว่าจะได้รับการตอบรับจากแกนนำสายพิราบ แต่แกนนำสายเหยี่ยวอย่างเสธ.แดง "พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล" กลับไม่เห็นด้วย แล้วยังประกาศจัดตั้งแกนนำ นปช.รุ่น 2 ขึ้นมา โดยหนึ่งในนั้นมีชื่ออริสมันต์ รวมอยู่ด้วยเมื่อแผนปรองดองถูกปัดอย่างไม่เป็นท่า

ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งของแกนนำ นปช.ที่ฝ่ายหนึ่งอยากยุติการชุมนุม แต่อีกฝ่ายอยากเดินหน้าโค่ล้มรัฐบาลต่อไป ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุติการเจรจากับแกนนำ และเดินหน้าแผนกดดันเต็มรูปแบบเพื่อให้การชุมนุมยุติลงก่อนวันที่ 15 พ.ค.ฝ่ายรัฐบาลเริ่มจากการตัดสาธารณูปโภคทั้ง ตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดคลื่นโทรศัพท์ งดให้บริการขนส่งมวลชนรอบบริเวณสถานที่ชุมนุม พร้อมทั้งเคลื่อนกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าโอบล้อมพื้นที่รอบย่านราชประสงค์ในช่วงค่ำของวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ขณะที่แกนนำฝ่าย นปช.ก็ประกาศชุมนุมยาวและจะต่อสู้กับรัฐบาลโดยใช้มือเปล่า ขณะที่อริสมันต์ก็ประกาศจะจับมือกับ เสธ.แดง เพื่อสู้กับฝ่ายรัฐ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในช่วงค่ำวันดังกล่าว เสธ.แดงก็ถูกยิงที่ศรีษะอาการสาหัส ต้องเข้ารับการผ่าตัดโดยด่วน ขณะที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ก็ยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางความตึงเครียดเมื่อแกนนำประกาศให้ผู้ร่วมชุมนุมเตรียมพร้อมกับการสลายการชุมนุมขณะที่ความเคลื่อนไหวของแกนนำสายฮาร์ดคอร์อย่างอริสมันต์และผองเพื่อน ยังไม่มีรายงานว่าจะไปในทิศทางใด เพราะเมื่อแม่ทัพอย่าง เสธ.แดงถูกยิง แล้วเบอร์รองอย่าง "กี้ร์" จะกล้ายืนหยัดสู้ต่อไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตาม

นี่คือประวัติความเป็นมาและพฤติกรรมห่ามๆ ของ “กี้ร์” อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ที่แม้บางคนจะมองว่าเป็นพวกไร้ค่าไร้ราคา ที่อยากดัง อยากโก้ ตามประสาดารานักร้องตกอับที่หวังสร้างกระแสให้กับตัวเอง หากแต่ผลกระทบจากการกระทำของเขา อาจทำให้สังคมไทยต้องเข้าสู่กลียุคเป็นได้

ปัจจุบัน (21 พ.ค.2553) รัฐบาล โดย ศอฉ. ได้ควบคุมสถานการณ์การชุมุนมและการก่อการร้ายไว้ได้แล้ว แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนเข้ามอบตัวแล้วเมื่อ 19 พ.ค.2553 และบางส่วนได้หลบหนีไป ซึ่งมี นายอริสมันต์ฯ ก็เป็นแกนนำคนหนึ่งที่ไม่ยอมมอบตัว และหลบหนีการจับกุม กระแสข่าวแจ้งว่าอาจจะหนีไปยังประเทศกัมพูชา

ที่มา :
ข้อมูล : ห้องสมุดออนไลน์. (2553).พลิกปูม "อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง" ว่าที่แกนนำรุ่น 2 ของเสธ.แดง. My First Info.com . [Online]. Available :
https://politic.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsid=99908 . [2553. พฤษภาคม 17 ].
ภาพ
-
http://hatyainai.files.wordpress.com/2010/04/red21.jpeg
-
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEj4O4jQKfYDePSkE36oP138N32L6G6XfUGfIC_XOfIjYijmZea1KR_wqCl4x9Vg73holwtUDcxBCcn159zge7ax2z5436M39BDS5L0axysFyj1_jGdkx6mFYuPVRkSYIrV6V8UlW9M14oM/s400/capt.aa11adfeed4f44f3b9815a9b827c4879-aa11adfeed4f44f3b9815a9b827c4879-0.jpg
-
http://nakkhaothai.com/admin/hotnews/140.jpg
-
http://siamreview.net/img/P772420112.jpg
-
http://www.news.thai2ads.com/images/all-image/imagenews/News_17055820100314.jpg

เสธ.แดง-พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล..คนราชบุรี..ถูกปลิดชีพ

เมื่อค่ำวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ในช่วงระหว่างการชุมนุมของ นปช.(กลุ่มเสื้อแดง) บริเวณแยกศาลาแดง กรุงเทพฯ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือที่เรียกทั่วไปว่า เสธ.แดง ได้ถูกซุ่มยิงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา..ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ระคนกับความสงสัยว่าใครเป็นผู้บงการสั่งฆ่า เสธ.แดง และในฐานะที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เป็นคนจังหวัดราชบุรี ผู้จัดทำจึงได้นำเรื่องราวของ เสธ.แดง มาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเก็บไว้ให้ชาวราชบุรีรุ่นต่อๆ ไป ได้ศึกษาและเป็นอุทาหรณ์ โดยข้อความที่จะขียนต่อไปนี้ ผู้จัดทำได้คัดลอกมาจาก ห้องสมุดออนไลน์ ของ My First Info.com ซึ่งขอขอบคุณผู้ที่เขียนและเจ้าของ ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย..

"จากคำพูด และพฤติกรรมเชิงข่มขู่ หรือขับไล่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระหว่างที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนมีเหตุใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่พื้นที่ชุมนุมและสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถจับกุมตัวผู้ลงมือได้ แม้ว่าอำนาจรัฐจะเปลี่ยนขั้วจากพรรคพลังประชาชนมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์แล้วก็ตาม

การใช้อาวุธสงครามเข้ามาปฏิบัติการในเมืองหลวง ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น เพราะหลังพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม ก็เกิดเหตุลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งใน 5 แกนนำพันธมิตร แต่เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงออกหมายจับคนในเครื่องแบบที่เป็นทั้งทหารและตำรวจ โดยไม่สามารถจับกุมตัวมาฟ้องศาลได้
กระทั่ง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553 ก็ปรากฏข่าวว่า คนร้ายไม่ทราบจำนวนท้าทายอำนาจรัฐด้วยการใช้เครื่องยิงลูกระเบิดชนิด M79 ยิงเข้าใส่ห้องทำงานชั้น 6 ภายในกองบัญชาการกองทัพบก ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งถือเป็นการตบหน้า ผบ.ทบ.อย่างเจ็บแสบ
ว่ากันว่า กว่าข่าวชิ้นนี้จะปรากฏออกมาทางสื่อมวลชนก็ใช้เวลาหลายวัน เนื่องจากมีการประเมินว่า เหตุเกิดในราวตี 3 ของวันที่ 14 มกราคม และเมื่อสื่อถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่างก็พยายามบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความเห็นที่แน่ชัด
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 เจ้าหน้าที่ก็นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" ซึ่งถูก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงนามในคำสั่งพักราชการ ก่อนวันเกิดเหตุเพียงหนึ่งวัน และเสธ.แดง คนนี้ ก็เคยสัมภาษณ์ทำนองข่มขู่ พล.อ.อนุพงษ์ หลายครั้งว่าให้ระวังตัวให้ดี อย่าออกมานอก บก.ทบ. ปรากฏว่าพบอาวุธสงครามจำนวนมาก และได้ควบคุมนายทหารคนสนิท พลทหารและคนเฝ้าบ้าน รวม 3 คน ฝากครั้งโดยคัดค้านการประกันตัว ขณะที่ เสธ.แดง ถูกออกหมายจับในเวลาต่อมา
กระทั่งล่าสุด ประกาศเป็นสายตรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) และจัดตั้งแกนนำ นปช.รุ่น 2 หากแกนนำอย่างสามเกลอยอมรับแผนปรองดองของรัฐบาลและยุติการชุมนุม จนมาถูกยิงอาการสาหัส ขณะให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553
บทบาทของ เสธ.แดง ในช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่น่าศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายทหารในราชการ ที่เอาตัวเข้ารับใช้ฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจนว่า สนับสนุนฝ่ายไหน รักฝ่ายไหน หรือขัดแย้งกับฝ่ายไหน ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมต้องตั้งคำถามกับพฤติกรรมของ เสธ.คนดัง ผู้นี้ว่า เป็นนายทหารนอกรีต หรือไม่?
เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ เสธ.แดง ในทางการเมืองระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา เมื่อท่านอ่านแล้ว โปรดวิเคราะห์กันเองว่าเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ที่นายทหารในราชการเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง โดยละเลยต่อหน้าที่หลักในการปกป้องประเทศ
พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือที่สังคมรู้จักในนาม "เสธ.แดง" เป็นชาวโพธาราม จ.ราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2494 ปู่เป็นชาวมอญย่านวัดขนอน โพธาราม บิดาเป็นอดีตทหารช่างชื่อ ร.อ.สนิท สวัสดิผล
เสธ.แดง จบประถมศึกษาและมัธยมจากโรงเรียนโพธาราม ด้วยความฝันที่อยากจะเป็นทหาร จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนศรีวิกรม์ ย่านสุขุมวิท แล้วเรียนกวดวิชา ที่โรงเรียนอโนชา ย่านนางเลิ้ง ทำให้รู้จักเพื่อนใหม่ชื่อ "ไอซ์" หรือ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายทหารคนดังแห่งเตรียมทหารรุ่น 10 ทำให้สนิทสนมกันตั้งแต่นั้นมา แม้ว่า เสธ.แดง จะเป็นรุ่นน้องเพราะสอบเข้าเตรียมทหารได้ทีหลัง คือ รุ่น 11 และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 22
หลังเรียนจบประดับยศ ร้อยตรี รับตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดกองร้อยทหารม้ายานเกาะ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี จากนั้นทำงานใกล้ชิดกับ พล.ต.มนูญ รูปขจร หรือ มนูญกฤต รูปขจร อดีตนายทหารคนดัง แห่ง จปร.รุ่น 7
ในช่วงรัฐบาลชวน 1 ติดตามทำงานให้กับ พล.ต.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง รมช.กลาโหม และ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก จากนั้นในปี 2538 ตกเป็นผู้ต้องหาทำร้ายร่างกาย น.ท.วิชา เนินลพ ผู้อำนวยการกองบริหาร การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการ ก่อนที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตั้งแต่ในปี 2540 แต่ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาสั่งฟ้องได้ เนื่องจากผู้ต้องหาอ้างว่าติดราชการมาตลอด กระทั่งถูกจับในปี 2545 จนเป็นฉนวนความขัดแย้งระหว่างทหารกับตำรวจ โดยเฉพาะ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร.ในเวลาต่อมา
ปี 2539 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.ทวิชน์ กาญจนภรณ์ ผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง และนายชาติสง่า โมฬีชาติ อดีตผู้ตรวจการกระทรวงมหาดไทย เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีออกหมายจับ เสธ.แดง ในคดีทำร้ายร่างกาย น.ท.วิชา อดีต ผู้อำนวยการกองบริหาร การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย
ปี 2540 นายไตรรงค์ สุวรรณคิรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.แรงงาน ขอตัวมาช่วยงาน พร้อมกับนายทหารประทวนอีก 5 นาย เพื่อช่วยแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว แต่มีชื่อปรากฏในข่าวคุกคามหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่โจมตีพฤติกรรมของรัฐบาลชวน 2
ปี 2542 ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก แต่กลางปี 2544 ถูกร้องเรียนว่าไปข่มขู่ชาวบ้านใน จ.กาญจนบุรี ไม่ให้สนับสนุน นายประชา โพธิพิพิธ หรือ กำนันเซี๊ยะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อช่วยเหลือ พล.ต.ศรชัย มนตริวัต ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 จ.กาญจนบุรี พรรคความหวังใหม่ แต่บางกระแสอ้างว่า ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ให้ไปเก็บข้อมูลกรณี พ.ต.สมจิตร ศรีกรด หรือ "ผู้พันกรด" คนสนิทของ พล.อ.ชวลิต และฐานเสียงของ พล.ต.ศรชัย ถูกยิงตายที่ จ.กาญจนบุรี จนกระทั่งได้ข้อมูลว่า มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องและคดีก็ไม่คืบ ทำให้ เสธ.แดง ไม่พอใจ พล.อ.สันต์ ในฐานะ ผบ.ตร.เข้าไปอีก
19 กันยาน 2545 เสธ.แดง ถูกจับกุมตัวตามหมายจับ สน.ดอนเมือง ในข้อหาใช้อาวุธปืนทำร้าย พ.ต.ต.ธีระเดช ธรรมสุขี กับพวก นำโดย พ.ต.อ.ปรีชา ธิมามนตรี ผู้กำกับการตำรวจนครบาล 2, พ.ต.ท.สวัสดิ์ เปี่ยมมนัส สารวัตรประจำกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 และ ร.ต.อ.ฤทธิรุจ เขมวนิช รองสารวัตรประจำกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 พร้อมเจ้าหน้าที่ 30 คน ซึ่งต่อมา วันที่ 9 เมษายน 2546 เสธ.แดง ฟ้องกลับนายตำรวจทั้ง 3 คน แจ้งข้อความอันเป็นเท็จในความผิดทางอาญาที่ทำให้ เสธ.แดง เสียหาย
ปี 2546 เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ในกรณีรื้อบาร์เบียร์ ย่านสุขุมวิท และถูก พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร.ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ที่กล่าวหาว่า พล.ต.อ.สันต์ มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสในการทำสำนวนคดีรื้อถอนบาร์เบียร์ มีพฤติการณ์ช่วยเหลือ ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ จนถูกศาลพิพากษาให้ชดใช้เงินจำนวน 20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีมาแล้ว
กลางดึกวันที่ 30 กรกฏาคม 2546 โดนคอมมานโดกองปราบปรามบุกจับกุมพร้อมลูกน้องอีก 2 คน ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก ข้อหาพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ มียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครอง และขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ นำตัวไปควบคุมที่กองพันสารวัตรทหารที่ 11 มณฑลมหารบกที่ 11 ก่อนที่จะนำตัวขึ้นศาลทหารเพื่อพิจารณาขอฝากขัง แต่หลุดมาได้ และเจ้าตัวได้แก้ลำ ผบ.ตร.ด้วยการรวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ เพื่อยื่นถอดถอน พล.ต.อ.สันต์ ออกจากตำแหน่ง

ปี 2547 เมื่อเกิดเหตุปล้นปืนกองทัพภาค 4 ในภาคใต้ ถูกส่งตัวไปช่วยงาน พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ฝ่ายความมั่นคง และรอง ผอ.รมน. แต่ต่อมาเกิดการขัดแย้งกัน จึงไปทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.ทบ.ในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ภาคใต้ได้ระยะหนึ่ง เสธ.แดง ได้ออกมาระบุว่า ปืนที่ถูกปล้นถูกส่งออกนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายที่ จังหวัดอาเจาะห์ ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีกลุ่มเคเอ็มเอ็ม ร่วมในการปล้นครั้งนี้ด้วย สวนทางกับ พล.ต.อ.สันต์ คู่ปรับเก่า ที่เห็นว่าน่าจะเป็นฝีมือของพวกเรียกร้องค่าคุ้มครอง
20 กุมภาพันธ์ 2549 ศาลยกฟ้องในคดีทำร้ายร่างกาย น.ท.วิชา เนินลพ (จากเหตุเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2538 ถึงขั้นอาการเข่าซ้ายหักและเป็นบาดแผลหลายแห่ง)
ปี 2549 มีเรื่องกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส สมัยเป็นจเรตำรวจ จนถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ฟ้องร้อง กรณีให้สัมภาษณ์ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เกี่ยวข้องกับบ่อนพนันลอยฟ้าย่านปิ่นเกล้า ได้รับประโยชน์จากบ่อน และอ้างว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่พอใจตน เพราะไปช่วยคดีให้นายสุกิจ พูนศรีเกษม ทนายความของบ่อน ซึ่งขวางเจตนาของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่ต้องการให้นักพนันให้ปากคำปรักปรำนายไพจิตร ธรรมโรจน์พินิจ หรือ "ปอ ประตูน้ำ" เพื่อดำเนินคดียึดทรัพย์ จนกระทั่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท และโทษจำคุกรอลงอาญา 3 ปี เมื่อ 22 สิงหาคม 2550
นอกจากนี้ ยังถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ฟ้องร้องอีก 29 คดี และสั่งปิดเว็บไซต์ เสธ.แดงดอทคอม ห้ามเสธ.แดง ให้สัมภาษณ์สื่อ แต่งชุดพรางเข้าฟังพิจารณคดี และห้ามพกปืนมาศาล
ต่อมา เสธ.แดง ได้ยื่นจดทะเบียนพรรคการเมืองชื่อ "พรรคเสธแดง" เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจ โดยเฉพาะ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาการ ผบ.ตร. เพราะเห็นว่าการทำงานของตำรวจมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งสืบสวนสอบสวน เขียนสำนวน หากไม่มีความสมบูรณ์และไม่มีความเป็นธรรม ก็จะทำให้เกิดความเสียหายตามมา แต่ถูก กกต.ไม่รับจดแจ้งจัดตั้งพรรค
จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อพรรคว่า "พรรคขัตติยะธรรม" มีชื่อย่อว่า "ขตธ."สำนักงานใหญ่อยู่เลขที่ 234 ถ.รัชดาภิเษก แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. มี ว่าที่ ร.ต.สุรภัศ จันทิมา อายุ 26 ปี เป็นหัวหน้าพรรค นายอธิปรัฐ กาญจนสุวรรณ เป็น เลขาธิการพรรค และมีกรรมการบริหารพรรค 18 คน ส่วน พล.ต.ขัตติยะ เป็นเพียงสมาชิกพรรค เท่านั้น โลโก้พรรคเป็นรูป เสธ.แดง ในชุดนักรบพระเจ้าตาก ขี่ม้าขาวมือขวาถือดาบ มุมขวาของโลโก้เป็นรูปธงชาติไทย ด้านล่างมีข้อความเขียนด้วยตัวอักษรสีดำว่า "พรรคขัตติยะธรรม" บนพื้นสีแดง มีนโยบาย "คิดได้ พูดได้ แต่ทำไม่ได้"
ส่วนข้อบังคับพรรคกำหนดว่า 1.หัวหน้าพรรคถูกเสมอ 2.ถ้าคิดว่าหัวหน้าพรรคทำไม่ถูก ให้กลับไปอ่านข้อ 1 ใหม่ 3.ให้ปฎิบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 โดยเคร่งครัด เป้าหมายเข้าไปแก้กฏหมายจับกุมคุมขังที่เห็นว่าปัจจุบันไม่เป็นธรรม
บทบาทในช่วงหลังที่การเมืองเกิดความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับรัฐบาลพลังประชาชน ซึ่งมีกลุ่ม นปช.สนับสนุน เสธ.แดง มีชื่อเป็นข่าวว่า ไปฝึกกองกำลังนักรบพระเจ้าตาก ที่สนามหลวง จนกระทั่งเกิดการเคลื่อขบวนมาปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงดึกของวันที่ 1 ถึงเช้ามืดวันที่ 2 กันยายน 2551 มีผู้เสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังให้สัมภาษณ์เชิงข่มขู่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ให้ออกจากทำเนียบรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะถูกตอบโต้จากฝ่ายตรงข้ามซึ่งไม่พอใจกลุ่มพันธมิตรฯ จนในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดบ่อยครั้งในพื้นที่ชุมนุมของพันธมิตรฯ มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิตแล้ว 1 คนในช่วงดึกของวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551
ทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำ โดยเฉพาะแนวร่วมพันธมิตรฯ ต่างเพ่งเล็งมาที่ "เสธ.แดง" เจ้าของวลี "หากพันธมิตรฯ ยังไม่หยุด อนาคตอาจถูกซุ่มโจมตีด้วย อาร์พีจี และ ค.60 และ M.79 และจะต้องมีกลุ่มรักษาความปลอดภัยพันธมิตรฯ ตายทุกวัน" (30 ต.ค.51)
ปลายปี 2551 พันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุม เมื่อพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 109 คน เป็นผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ต้องพ้นจากตำแหน่ง การเมืองเข้าสู่ภาวะสูญญากาศ ส.ส.จาก 3 พรรค นั้น ต้องหาสังกัดใหม่ เกิดข่าวลือขึ้นมากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะหันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เป็นรัฐบาล
สุดท้ายแล้ว ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน จากอดีตพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล ก็หันมายกมือสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามคาด สร้างความไม่พอใจให้พรรคเพื่อไทย (ส.ส.จากพลังประชาชนส่วนใหญ่ย้ายเข้าพรรคนี้) และกลุ่มมวลชนที่สนับสนุน จนเกิดการประท้วงขับไล่รัฐบาล พร้อมล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์เมษายนเลือดในปี 2552 ที่กลุ่มคนเสื้อแดงหรือกลุ่ม นปช. ก่อจลาจลเผาเมือง ป่วนเมือง จนนายกฯ ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ระหว่างนั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ก็ถูกกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธสงครามลอบถล่มยิง จนบาดเจ็บสาหัส แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถจับตัวผู้ต้องหามาลงโทษได้ มีเพียงการออกหมายจับนายตำรวจและนายทหารในราชการ 3 เท่านั้น
ขณะที่บทบาท เสธ.แดง ในช่วงนั้น มีข่าวว่าได้เข้าไปสนับสนุนการฝึกฝนกองกำลังของการ์ดเสื้อแดง ภายใต้ชื่อ "นักรบพระเจ้าตาก" คอยดูแลความปลอดภัยให้กลุ่มผู้ชุมนุม แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก มีเพียงการออกมาให้สัมภาษณ์เชิงข่มขู่ว่า จะมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายพร้อมโจมตีรัฐบาลอยู่เนืองๆ จนกระแสสังคมและสื่อมวลชน เริ่มกดดันให้ผู้บังคับบัญชา ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยและอาญาทหารกับ เสธ.ดังคนนี้
"พล.อ.พัลลภ(ปิ่นมณี) เรียกตนไปพบ เพราะขณะนี้ ทหารพรานค่ายปักธงชัย ที่ถูกยุบ กำลังรวมตัวกันประมาณ 1,000 คน และเตรียมอาวุธหนักพร้อมรบ เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่มีความเป็นธรรมเกิดสองมาตรฐาน...ซึ่งอดีตทหารพรานเหล่านี้ จะออกมาแฝงเป็นการ์ดเสื้อแดง เวลามีม็อบเสื้อแดงจะแฝงตัวไป ดังนั้นขอเตือนว่า ทหารอย่าออกมาช่วงนี้ เพราะจะถูกทหารพรานที่มีอาวุธพร้อมรบออกมา อาจทำให้เกิดสงครามกลางเมืองได้ ที่สำคัญทหารพรานเหล่านี้ใช้อาร์พีจีเก่งกว่าทหารหลัก" พล.ต.ขัตติยะ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเตรียมกองกำลังทหารพรานค่ายปักธงชัย ร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดง (2 ธ.ค.2552)
เมื่อถูกลุกไล่ เสธ.แดง ก็ออกมาให้สัมภาษณ์โจมตีผู้บังคับบัญชา คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ตามสไตล์ถนัดเช่นกันว่า "ถ้าแกล้งกันส่วนตัวแบบนี้ ก็เป็นเรืองส่วนตัวแล้ว ก็ให้อยู่แต่ในกองทัพบกแล้วกัน "ป๊อก" ลืมเพื่อนแล้ว ลืมผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าทำอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาผม กูทำอะไรให้มึง กูนี่แหละออกมาช่วยมึงคนเดียวทั้งกองทัพ มาใช้อำนาจมิชอบแบบนี้ ก็ให้อยู่แต่ในกองทัพบก อย่าออกมาก็แล้วกัน ไม่ได้ขู่นาย แต่ถ้าทำผมแบบนั้น ก็ไม่ใช่นายผม" (8 ธ.ค.2552)
อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมที่ผ่านมา ทั้งการออกมาให้ข่าวกระทบต่อความมั่นคง การเดินทางออกนอกประเทศไปพบผู้นำกัมพูชา โดยไม่ได้รับอนุญาต และการให้สัมภาษณ์โจมตีผู้บังคับบัญชาบ่อยครั้ง ทำให้ เสธ.แดง ถูกสั่งพักราชการ และนำมาซึ่งเหตุการณ์คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้ M.79 ยิงถล่มห้องทำงาน พล.อ.อนุพงษ์ กลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงต้นปี 2553
หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของ เสธ.แดง พบอาวุธสงครามจำนวนมาก พร้อมคนใกล้ชิด 3 คน ที่ถูกควบคุมตัวไปสอบสวน ขณะที่ เสธ.แดง ซึ่งถูกออกหมายจับ มีข่าวว่า เจ้าตัวได้หนีลงใต้ไปหลบที่มาเลเซีย ก่อนจะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา และว่าเป็นการจัดฉากของคนบางกลุ่มที่ไม่ถูกกับตน
"จะไปมอบตัวแน่นอน โดยจะเดินทางประมาณตี 3-4 เพราะเป็นยุทธศาสตร์ ถอยร่นแล้วค่อยรุกต่อ และมั่นใจว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม ไม่ออกมหายจับผม เพราะผมไม่เคยคิดหนี หากจะรวบตัวสามารถทำได้ เพราะเดินทางไปที่ใดจะบอกจุดหมด อย่างเช่น วันที่ 25 มกราคม จะเดินทางไปพบคนเสื้อแดงที่ จ.สุโขทัย...ส่วนเรื่องเอ็ม 79 นั้น จะยิงกันเอง หรือใครยิงไม่ทราบ เพราะ ผบ.ทบ.มีคนจองกฐินหลายคน ทำให้กองทัพเสียเกียรติภูมิ จึงขอให้ พล.อ.อนุพงษ์ ออกคำสั่ง ให้กลับเข้ารับราชการภายในหนึ่งเดือน เพราะอีก 7 เดือนเมื่อเกษียณราชการไป แล้วจะมีคนตามกระทืบ ตั้งแต่หน้าบ้านไปยันหน้าปากซอย" เสธ.แดง ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน ตามหมายเรียกภายในวันที่ 1 ก.พ.53 กรณีมีอาวุธสงครามในบ้านพัก ม.พัน.4 รอ.(25 ม.ค.2553)
แม้จะถูกดำเนินคดีในข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครองและถูกสั่งพักราชการ แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถทำให้ เสธ.แดง ยุติบทบาทได้ โดยเจ้าตัวได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ดูไบ พร้อมกับกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของ นปช.จะใช้บริการของกลุ่มฮาร์ดคอร์ ในการทวงคืนอำนาจให้กลับตนเอง โดยมี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี กับ เสธ.แดง เป็นหนึ่งในตัวชูโรง
พอกลับมา พล.อ.พัลลภ ให้สัมภาษณ์เป็นเสียงเดียวกันถึงการจัดตั้งกองทัพประชาชน แต่ถูกกระแสสังคมต่อต้านอย่างหนัก ขณะที่ฝ่ายเดียวกันแกนนำ กลุ่ม นปช. อย่าง วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์ ก็ไม่เห็นด้วย จนเกิดกระแสข่าวความขัดแย้งในกลุ่ม นปช. ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการใช้ความรุนแรงในการขับไล่รัฐบาล ขณะที่อีกฝ่ายอยากใช้มวลชนกดดันไปเรื่อยๆ
ในที่สุด แกนนำ นปช.ก็ประกาศจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับ เสธ.แดง เพราะมีข่าวว่า เสธ.แดงไปแอบอ้างชื่อ นปช.เปิดโรงเรียนฝึกอาวุธคนเสื้อแดงที่ จ.สกลนคร มุกดาหาร และศรีสะเกษ แต่เสธ.แดง ก็ไม่สนใจ และยังคงทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กลุ่ม นปช.ต่อไป
"ขอยืนยันเมือนเดิมว่า ยังไงกูก็ไม่ไปไหน ด่ายังไง กูก็ไม่โกรธ ถึงแม้มึงไม่เอากู แต่กูเอามึง กูจะขอเป็นกองทัพประชาชนรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนต่อไป และอย่าสำคัญตัวผิด สาเหตุที่ประชาชนรักเรา เพราะเราเป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ(ชินวัตร) ในการนำท่านกลับประเทศ...ส่วนนายจตุพรและแกนนำ นปช.จะเป็นผู้นำมวลชนต่อไป พร้อมที่จะทำตามคำสั่งของ นปช. ยืนยันว่าสนับสนุนแกนนำ นปช.เหมือนเดิม และจะไม่แย่งขึ้นมาเป็นแกนนำแทน เพราะตนไม่มีความสามารถที่จะเป็นได้ แค่เข้ามาคุมกองทัพประชาชนเท่านั้น" เสธ.แดง กล่าวถึงความขัดแย้งกับนายจุตพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มเสื้อแดง เรื่องการจัดตั้งกองทัพประชาชน (8 ก.พ.2553)
"เมื่อทำงานใหญ่ ใจต้องใหญ่ อย่าหูเบา อย่าด่ากันเอง อย่ารบกันเอง ต้องรบกับข้าศึก ผมไม่เคยไป จ.ศรีสะเกษ สกลนคร แล้วจะไปฝึกกองกำลังเสื้อแดงได้อย่างไร ขอให้เข้าใจกันใหม่ เพราะมีอะไร นายณัฐวุฒิ ก็โทรศัพท์คุยกับผมก่อนที่จะไปร่วมแถลงข่าว เรื่องนี้ทำให้เกิดความแตกแยก แล้วอย่างนี้จะไปรบกับพวกอำมาตย์ได้อย่างไร...นายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น่าจะรู้ตัวดี เพราะมีความสนิทกัน ขณะนี้นายนพดล กำลังทำตัวเหมือนลิโป้ในสามก๊ก เป็นพวกมนุษย์สามข้อ อยู่กับใครก็ฆ่าเขาหมด ตั้งแต่ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร นายชวน หลีกภัย และ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่กับใครคนนั้นตายหมด เราสนิทกันมาก แต่วันนี้ออกมาด่าตน ทำไมไม่โทรศัพท์ถามกันสักคำ ที่ผ่านมาได้ออกมาพูดช่วยนายนพดล เรื่อเขาพระวิหาร เมื่อครั้งเป็น รมว.ต่างประเทศ เมื่อเกิดเหตุตำรวจไปบุกบ้านพี่สาวก็เกิดใจเสาะ ถอดใจลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้วางใจมาก ทำให้รัฐบาลล่ม คนนี้คบไม่ได้อยู่กับ พล.ต.มนูญกฤต นายชวน ก็ไปหักหลังเขา แล้วมาอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ทำให้พังอีก" เสธ.แดง กล่าวถึงกรณีนายวีระ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายนพดล ปัทมะ แกนนำ นปช. ประกาศไม่ยอมเข้าร่วมสังฆกรรมและไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของ เสธ.แดง โดยเฉพาะการแอบอ้างชื่อ นปช.เปิดโรงเรียนฝึกอาวุธคนเสื้อแดงที่ จ.สกลนคร มุกดาหาร และศรีสะเกษ (17 ก.พ.2553)
อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวความขัดแย้งภายในกลุ่ม นปช.มิได้ทำให้สังคมเชื่อว่าเป็นความจริง เพราะในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช.ครั้งล่าสุด (มี.ค.2553-พ.ค.2553) เสธ.แดง ยังเข้าไปมีบทบาทในสถานที่ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยแกนนำแต่ละคนไม่ได้ห้ามปรามแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ เสธ.แดง ยังตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาร่วมกับแกนนำ นปช.คนอื่นๆ ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ออกหมายจับตามความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกระทำความผิดในข้อหาก่อการร้าย และต้องไปรายงานตัวในวันที่ 15 พฤษภาคม 2553
จากพฤติกรรมที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เสนอคำสั่งปลด พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ออกจากราชการแล้ว โดยหนังสือดังกล่าวได้เสนอถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้เซ็นคำสั่งเห็นชอบกับคำสั่งปลดเสธ.แดง แล้ว โดยขณะนี้คำสั่งปลดออกจากราชการกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ
ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เสนอแผนปรองดอง 5 ข้อ เพื่อแลกกับการให้กลุ่ม นปช.ยุติการชุมุนม โดยหนึ่งในนั้นเสนอยุบสภาฯ ช่วงเดือนกันยายน และจะเลือกตั้งภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งของแกนนำ นปช.ที่มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายที่ยึดแนวทางสันติอย่างนายวีระ, นพ.เหวง,นายก่อแก้ว และนายณัฐวุฒิ ต้องการยุติการชุมุนม ส่วนฝ่ายฮาร์ดคอร์อย่างนายอริสมันต์, นายสุพร,นายขวัญชัย รวมถึง เสธ.แดง ต้อวการให้ชุมนุมต่อไป จนทำให้แผนการปรองดองของนาบอภภิสิทธิ์ ต้องพับไป
ต่อมา ศูนย์อำนวยการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เพิ่มมาตรการกดดันให้กลลุ่ม นปช.ยุติการชุมนุม โดยสั่งตัดสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา คลื่นโทรศัพท์ และการขนส่งมวลชน พร้อมได้เคลื่อนกำลังทหารเข้าโอบล้อมพื้นที่การชุมนุม ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 และเสธ.แดง ถูกซุ่มยิงอาการสาหัส ขณะให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศรายหนึ่ง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ก่อนจะย้ายมาวชิรพยาบาล เพื่อเข้ารับการผ่าตัดสมอง ซึ่งภายหลังการผ่าตัดอาการของ เสธ.แดง มีแต่ทรงกับทรุด คณะแพทย์ได้ยื้อชีวิตจนถึงที่สุด
เบื้องต้นมีข่าวว่า เสธ.แดง ถูกยิง 2 นัด กระสุนเจาะเข้าศรีษะ 1 นัด ส่วนอีกนัดฝังอยู่ในเสื้อเกราะ มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ถึงกลุ่มที่สั่งปลิดชีพเสธ.แดง ในครั้งนี้ว่า เป็นไปได้ทั้งฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเดียวกัน หรือมือที่สาม เพราะในช่วงที่ผ่านมา ด้วยบุคลิกที่เป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา อาจทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ จนนำมาซึ่งการสั่งปลิดชีพ เสธ.คนดัง ผู้นี้
ล่าสุด หลังจากแพทย์เฝ้าดูอาการ เสธ.แดง มากว่า 5 วัน เมื่อช่วงสาย (เวลาประมาณ 09.20 น.) ของวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 เสธ.แดง ได้เสียชีวิตแล้ว
นี่เป็นพฤติกรรมเสี้ยวหนึ่งของ เสธ.แดง นายทหารประจำการที่เลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจน และจบชีวิตอย่างน่าเศร้าก่อนวัยอันควร เหลือเพียงเกียรติประวัติและบทบาทที่ฝากไว้ให้สังคมไทยได้จดจำว่า เขาผู้นี้เป็นหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทในช่วงที่บ้านเมืองเกิดความแตกแยกมากที่สุดยุคหนึ่ง"

ประวัติเพิ่มเติมพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เป็นชาว อ.โพธารม จ.ราชบุรี
เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2494 เป็นบุตรของ ร.อ.สนิท สวัสดิผล และนางสอิ้ง สวัสดิผล มีพี่สาว 3 คน ตนเองเป็นผู้ชาย คนสุดท้อง
สมรสกับ นาวาเอก(พิเศษ) หญิง จันทรา สวัสดิผล (เสียชีวิตแล้ว) มีบุตรสาว 1 คน คือ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ชื่อเล่น เดียร์ ปัจจุบันเป็นทนายความในสำนักกฏหมายเอกชน
การศึกษา : จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศรีวิกรม์ จบโรงเรียนเตรียมหทาร (ตท.11) ,จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.22) และจบโรงเรียนเสนธิการทหารบก ชุดที่ 63 ก่อนไปเรียนต่อ ปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษา ปี 2528 จบปริญญาโทคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำเร็จการศึกษาปี 2539 ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม สำเร็จการศึกษาปี 2545 ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำเร็จปีการศึกษา 2547 และจบปริญญาเอก สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์น ฟิลิปปินส์ (University of Northern Philippines) ในปี 2551

พิธีศพ-พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และโกศ 8 เหลี่ยมเพื่อบรรจุศพ ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร
-กำหนดสวดพระอภิธรรม 3 คืน ตั้งแต่วันที่ 17-19 พ.ค.2553 เวลา 18.30 น. ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร กทม.














เสธ.แดง ให้สัมภาษณ์ สื่อต่างประเทศ เมื่อ 11 เม.ย.2553
ที่มา : http://www.youtube.com/watch?v=inM3f07DlAg
เจ้าของ : samma0009















May 13, 2010 — ยิงเจาะกระโหลกเส ธ.แดง-สื่อต่างชาติชี้โดนสไนเปอร์เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.วันที่ 13 พฤษภาคม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดงผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ได้เดินออกมาจากแนวรั้วรักษาความปลอดภัยของการ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ(นปช.) บริเวณแยกศาลาแดง เพื่อให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 4-5 คน อาทิ นายโทมัส ฟุลเลอร์ ผู้สื่อข่าวนิวยอร์คไทมส์ นายแดเนียล เชิร์ฟ ผู้สื่อข่าววิทยุเสียงอเมริกา(วีโอเอ) ซึ่งคาดว่าจะนัดหมายกันล่วงหน้าระหว่างให้สัมภาษณ์ได้เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อจู่ๆ เสธ.แดง ล้มฟุบลงกับพื้น และมีบาดแผลที่บริเวณศรีษะ คาดว่า น่าจะถูกลอบยิงจากระยะไกล หลังจากนั้นการ์ด นปช.ได้นำตัวเสธ.แดง ขึ้นรถปิดอัพ ยี่ห้อโตโยต้า สีขาวนำส่งโรงพยาบาล(รพ.) หัวเฉียว โดยไม่ยอมนำส่งรพ.จุฬาฯที่อยู่บริเวณใกล้เคียงหลังจากนั้นก็เกิดเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดขึ้นที่บริเวณรถไฟฟ้าบีที เอส สถานีศาลาแดง และที่บริเวณถนนพระราม 4 จำนวน 5 ลูก นอกจากนี้ยังมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ทำให้ที่ประชาชนและผู้ชุมนุมต่างวิ่งหนีตายโกลาหลนายเดเนียล เชิร์ฟ ผู้สื่อข่าววีโอเอ ระบุว่า เห็นเสธ.แดง ถูกยิง โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นฝีมือของมือปืนซุ่มยิงหรือสไนเปอร์ ระหว่างที่อยู่ภายในพื้นที่ชุมนุม นายเชิร์ฟ ระบุว่าหลังจากเสธถูกยิง ก็มีเสียงปืนยิงต่อสู้และเสียงระเบิดเกิดขึ้นภายในพื้นที่ปิดล้อมของม็อบ ด้วยต่อมาสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นอ้างผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า การซุ่มยิงพล.ต.ขัตติยะครั้งนี้น่าจะมาจากหลังคาของอาคารแห่งหนึ่งมุมสวน ลุมพินี ทั้งนี้ แดน ริเวอร์ส ผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพฯของซีเอ็นเอ็นระบุว่า เสธ.แดง ถือเป็นแกนนำของกลุ่มเสื้อแดงที่หัวรุนแรงมากที่สุด แข็งกร้าวมากที่สุดในบรรดาแกนนำด้วยกัน (วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 01:30:56 น. มติชนออนไลน์ )
ที่มา :
http://www.youtube.com/watch?v=iMei-Jw6gw8
เจ้าของ : RedHeart2553

ที่มา :
ข้อมูล : ห้องสมุดออนไลน์. (2553).พลิกประวัติ "เสธแดง" พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ก่อนถูดปลิดชีพ. My First Info.com. . [Online]. Available :https://politic.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsid=118114 . [2553. พฤษภาคม 17 ].
ภาพ :
-http://www.talkystory.com/imagelib/www.talkystory.com/022010/dc464b49886eb20.jpg
-http://www.tnews.co.th/html/picture/tnews_1267851471_6222.jpg
-http://www.bangkokbiznews.com/2008/11/06/thumb/309423_7195390lowthumb3bkk.jpg
-http://www.talkystory.com/imagelib/www.talkystory.com/112009/efc9eea7467aa97.jpg
-http://i174.photobucket.com/albums/w120/kittinunn/5510000148891.jpg
-http://www.reuters.com