วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความพยายามในการกู้หัวรถจักร ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์

ในความพยายามที่จะกู้หัวรถจักร มีวัตถุประสงค์หลายประการในการที่จะกู้ขึ้นมา ดังนี้

หนังสือศาลากลางจังหวัดราชบุรี (2535) ระบุว่า เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษของไทยที่เคยร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับกองทัพญี่ปุ่น และเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา

รายงานการประชุม เรื่อง หัวรถจักรไอน้ำ กล่าวถึง จุดประสงค์ที่ต้องการนำหัวรถจักรขึ้นมา (2540)
1. เป็นอนุสรณ์เตือนเยาวชนรุ่นหลังว่า ครั้งหนึ่ง ราชบุรีเคยมีผลกระทบต่อภัยสงครามและเป็นเส้นทางผ่านของญี่ปุ่น
2. นำไปเป็นโบราณวัตถุ เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ จ.ราชบุรี
3. สามารถให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวได้ศึกษา
วัตถุประสงค์ เพื่อกู้หัวรถจักรไอน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกองทัพญี่ปุ่นขึ้นเหนือน้ำ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี และใช้เรื่องราวปูมประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นเนื้อหาของการจัดการแสดง แสง สี เสียง ประกอบงานประจำจังหวัดราชบุรี (สืบสานประเพณีราชบุรีสู่สากล) (ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ.2548)
ความพยายามที่จะกู้หัวรถจักร จากหลักฐานเริ่มแรกที่ค้นพบ เกิดจากความคิดของ ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้มีหนังสือไปถึง เจ้ากรมการทหารช่าง ลงวันที่ วันที่ 30 กันยายน 2535 จังหวัดเห็นสมควรที่จะมีการกู้หัวรถจักรไอน้ำ จึงขอให้ทางกรมการทหารช่างโปรดพิจารณาตรวจสอบและความเป็นไปได้ในการกู้หัวรถจักร (หนังสือศาลากลางจังหวัดราชบุรี . 2535)
หลังจากได้รับหนังสือ กรมการทหารช่าง ได้มอบหมายให้ กองพลทหารช่าง ดำเนินการสำรวจว่าอยู่ในขีดความสามารถของหน่วยหรือไม่ พร้อมให้เสนอแนะความเป็นไปได้ จากผลการสำรวจได้ข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทำให้มีข้อมูลเบื้องต้นในจำนวนหนึ่ง และมีแผนที่จะลงไปสำรวจเพิ่มเติมโดยใช้นักดำน้ำ ในระหว่างเดือน ธันวาคม 2535 ถึง มกราคม 2536 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของหัวรถจักร การทับถมของชั้นดิน ลักษณะของพื้นท้องน้ำ กระแสน้ำ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ใต้น้ำที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเรื่องเงียบหายไป
จนกระทั่ง นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ส.ส.ราชบุรี เขต 2 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ขออนุญาตเรียนเชิญ พลโทวิษณุ อุดมสรยุทธ เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการนำหัวรถจักรไอน้ำ ที่จมอยู่บริเวณใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ขึ้นมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ โดยเจ้ากรมการทหารช่างตอบรับเป็นประธาน โดยกำหนดการประชุมในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2540 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมยงใจยุทธ กองบัญชาการกรมการทหารช่าง โดยผู้เข้าร่วมการประชุมในวันนั้น ประกอบด้วยบุคคลสำคัญต่างๆ สรุป ได้แก่ (รายงานการประชุม เรื่อง หัวรถจักรไอน้ำ. 2540)
1. พลโทวิษณุ อุดมสรยุทธ เจ้ากรมการทหารช่าง
2. นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
3. นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี เขต 2
4. พลตำรวจตรีจำลอง แสงทวีป ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ราชบุรี
5. นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฎ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี
6. นาวาตรีอภิชัย คล้ายแก้ว เจ้าท่าภูมิภาค 3
7. นายสมศักดิ์ สุวรรณไพบูลย์ วิศวกร อำนวยศูนย์ที่สะพาน ฝ่ายการช่างโยธา
8. นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ นายช่างแขวงการทาง จ.ราชบุรี
9. นายบำรุง บัวโสพิศ นายช่างหัวหน้าโครงการชลประทาน จ.ราชบุรี
10. นายมโณ กลีบทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
11. พลตรีพินิจ ศุขสายชล เสนาธิการกรมการทหารช่าง
12. พลตรีบุญเลิศ ประทุมรัตน์ ผู้บัญชาการกองพลทหารช่าง
13. พันเอกสุจิต จิตต์รักมั่น รองเสนาธิการกรมการทหารช่าง
14. พันเอกสมพล อวยพร รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารช่าง
15. ผู้อำนวยการกองต่างๆ ในสังกัดกรมการทหารช่าง
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เขียนเข้าร่วมประชุมด้วยในตำแหน่ง ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 51 กรมการทหารช่าง สรุปผลการประชุมในวันนั้น ได้ดังนี้
ความเป็นมา การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากมีชาวบ้านมาบอก ฯพณฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมต.คมนาคม ซึ่งเดินทางมาประชุมที่ จ.ราชบุรี เรื่องหัวรถจักรไอน้ำที่จมอยู่แล้ว ทำไมไม่เอาขึ้นมา ซึ่ง ฯพณฯ สุวัจน์ ให้ความสนใจและขอไปดูสถานที่จริงเลย แต่แจ้งว่าคงมองไม่เห็นเนื่องจากน้ำมาก จึงไม่ได้ไปดู ฯพณฯ สุวัจน์ฯ จึงสั่งให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ช่วยติดตามเรื่องนี้ด้วย
ผลการประชุม ยังไม่ทราบว่าหัวรถจักรไอน้ำที่จมอยู่นี้เป็นรุ่นใด สันนิษฐานว่า อาจเป็นรถจักรขนาดเล็ก รุ่น C-56 ที่ทำในประเทศญี่ปุ่น หรืออาจเป็นรถจักรขนาดเล็ก รุ่น P-CLASS (KITSON/NORTH BRITISH,1917,1919) ที่ทำในประเทศอังกฤษ คงต้องใช้นักดำน้ำลงไปสำรวจข้อมูลเพื่อนำกลับขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อศึกษาผลกระทบต่างๆ และพิจารณาหาวิธีการกู้ต่อไป ซึ่ง ทาง ส.ส.วิเชษฐ์ เกษมทองศรี รับจะไปประสานกับทางสำนักงานโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร มาดำน้ำสำรวจ และจะนำผลการสำรวจมาเข้าที่ประชุมในครั้งต่อไป
หลังจากนั้น วันที่ 25 กรกฎาคม 2549 นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ได้แจ้งเป็นหนังสือมายังกรมการทหารช่าง ว่า (หนังสือพรรคชาติพัฒนา. 2540) ทางสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี โดยท่าน ผู้อำนวยการสถาพร ขวัญยืน พร้อมที่จะนำนักประดาน้ำของโบราณคดีใต้น้ำมาสำรวจในวันที่ 5-7 สิงหาคม 2540 พร้อมขอให้นักประดาน้ำของกรมการทหารช่างร่วมสำรวจในครั้งนี้ด้วย แต่ด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบการสำรวจในวันที่ 5-7 สิงหาคม 2540 นั้นไม่เกิดขึ้น และไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใดอีกเลย
เรื่องเงียบหายมาเป็นเวลาเกือบ 8 ปี จนกระทั่งในปีที่ พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมการทหารช่าง ได้เริ่มจุดประกายการกู้หัวรถจักรขึ้นมาใหม่ ดังนี้
วันพุธที่ 15 กันยายน 2547 พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง ได้มีหนังสือถึงส่วนราชการต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานประเพณีลอยกระทงจังหวัดราชบุรี โดยเสนอแนวความคิด เกี่ยวกับการส่งเสริมยุทธศาสตร์จังหวัดราชบุรีด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดผลทางด้านเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี และเสนอแนะกิจกรรมทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การแสดง แสง สี เสียง ประกอบกับ หัวรถจักรไอน้ำของกองทัพญี่ปุ่นซึ่งจะดำเนินการกู้ขึ้นมาพ้นน้ำทางด้านฝั่งกรมการทหารช่าง และต่อมาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 ได้ว่าจ้างนายสุทธิ พยัคฆ์ นายดำรง พยัคฆ์ และนายสาโรจน์ พยัคฆ์ สามพ่อลูกซึ่งเป็นนักดำน้ำงมกุ้งและงมหาของเก่าในแม่น้ำแม่กลอง ดำน้ำลงไปสำรวจและวางทุ่นบริเวณหัวรถจักร ลูกระเบิดที่ด้านอยู่

กรมการทหารช่าง (ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ. 2548) ได้เสนอแนวความคิด โครงการย้อนรอยทางรถไฟสายประวัติศาสตร์จังหวัดราชบุรี (ปฏิบัติการกู้หัวรถจักรไอน้ำ) ว่ามีความเป็นไปได้ และมีประโยชน์อย่างมากมาย ที่จะนำจังหวัดราชบุรีไปสู่ความเป็นจังหวัดชั้นนำของประเทศ โดยรายละเอียดของโครงการพอสรุปๆ ได้ ดังนี้
ความเป็นมา จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีการสะสมวัฒนธรรมจากหลายยุคหลายสมัย มีหลักฐานทางโบราณคดี ที่บ่งบอกถึง การดำรงชีวิตของมนุษย์ สภาพสังคมจิตวิทยาของจังหวัด วิถีชีวิตของชาวบ้าน นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีเหตุการณ์ต่างๆมากมายที่น่าสนใจ น่าศึกษาค้นคว้า สามารถนำมาเป็นจุดสนใจให้กับนักท่องเที่ยวจาก ทั่วประเทศและจากนานาประเทศ ที่จะเข้ามาเยี่ยมชม รำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ทราบถึงรูปแบบของเหตุการณ์ต่างๆ นำมาเป็นบทเรียนในการฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี
สงครามคือการใช้อำนาจกำลังรบทุกรูปแบบเพื่อแย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์ สงครามมีหลายรูปแบบ และมีวิวัฒนาการยาวนานตั้งแต่ในอดีต การศึกษาประวัติสงครามนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญแม้ว่าในปัจจุบันนั้นรูปแบบของสงครามที่ใช้กำลังรบที่มีตัวตนมีโอกาสเกิดได้ยาก แต่เป็นการศึกษารูปแบบของการดำเนินกลยุทธ์ทางทหาร รูปแบบของช่วงเหตุการณ์ต่างๆ แนวความคิดในการปฏิบัติของคู่สงคราม เพื่อเป็นบทเรียน ให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งถ้าได้ศึกษาอย่างแท้จริงแล้วก็จะมีประโยชน์อย่างมาก
วัตถุประสงค์ของโครงการฯ ระบุว่า เพื่อกู้หัวรถจักรไอน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกองทัพญี่ปุ่นขึ้นเหนือน้ำ และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี และใช้เรื่องราวปูมประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นเนื้อหาของการจัดการแสดง แสง สี เสียง ประกอบงานประจำจังหวัดราชบุรี(สืบสานประเพณีราชบุรีสู่สากล)
การดำเนินการปฏิบัติการกู้หัวรถจักรไอน้ำ กรมการทหารช่าง(โดยการจ้างเหมาบริษัท) กู้หัวรถจักรไอน้ำซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้ปรากฏขึ้นเหนือน้ำทางด้านค่ายภาณุรังษี ตรงข้ามจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี จัดหาที่ใช้ในการแสดงชิ้นส่วนของทุ่นระเบิดและทางรถไฟ มีแผ่นวัสดุถาวรในการบันทึกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหัวรถจักร และเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้น ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าศึกษา จัดสถานที่บริการอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมกับสถานที่จำหน่ายของที่ระลึก และใช้เป็นส่วนประกอบของงานแสดง แสง สี เสียง ในงานประจำจังหวัดราชบุรีทุกๆปี เพื่อส่งเสริมให้เป็นงานระดับชาติในแผนระยะยาว
กลยุทธ์การผลักดันจุดแข็ง(Strength) ให้เป็นที่สนใจ ต้องใช้การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและจริงจังพยายามสร้างตำนานให้เป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม โดยอาศัยความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้ว รวบรวมเรียบเรียงให้เกิดมนต์เสน่ห์ และเกิดความเป็นอมตะให้ปรากฏต่อสายตาคนภายนอกทั้งประเทศและนานาประเทศ ใช้ความร่วมมือของส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดปลูกฝังอุดมการณ์และค่านิยมเริ่มต้นจากชาวราชบุรีเป็นเป้าหมายลำดับแรกเพื่อให้เกิดความรู้สึกคล้อยตาม อยากศึกษาประวัติศาสตร์ซึ่งจะเป็นจุดน่าสนใจของจังหวัดในโอกาสต่อไป โดยเมื่อชาวจังหวัดราชบุรีนั้นมีความสนใจแล้วก็จะเกิดความเข้มแข็ง ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจภายในจังหวัด และสามารถผลักดันไปสู่ประชากรทั้งประเทศและนานาประเทศต่อไป
ข้อเสนอแนะ จากการวิเคราะห์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าแนวความคิดในการดำเนินการโครงการย้อนรอยทางรถไฟสายประวัติศาสตร์จังหวัดราชบุรี(ปฏิบัติการกู้หัวรถจักรไอน้ำ) มีความเป็นไปได้และมีประโยชน์อย่างมากมาย ที่จะนำจังหวัดราชบุรีไปสู่ความเป็นจังหวัดชั้นนำของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงเห็นควรดำเนินการดังนี้.-
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นวางแผน
1.ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งควรจะประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.วางแผนการดำเนินการ “โครงการย้อนรอยทางรถไฟสายประวัติศาสตร์จังหวัดราชบุรี(ปฏิบัติการกู้หัวรถจักรไอน้ำ) โดยคณะทำงาน
3. ประชุมแบ่งมอบความรับผิดชอบในการดำเนินการให้กับส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง
4. ระดมความคิดหาแนวทางการจัดหางบประมาณเพื่อใช้โดยการระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
ขั้นตอนที่ 2 เตรียมการ
1.ศึกษาและหาข้อมูลประวัติศาสตร์เพื่อประกอบการปรับปรุงเรื่องราวสร้างจุดสนใจให้เป็นตำนานที่จดจำได้ในระดับสากล
2.จัดหางบประมาณเพื่อใช้โดยการระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
3.ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างทั่วทั้งประเทศ ไม่จำกัดแค่ในจังหวัดและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการดำเนินการให้ โดยต้องเริ่มจากเป้าหมายคือพี่น้องชาวจังหวัดราชบุรีให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมกับมรดกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของจังหวัด
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นปฏิบัติการ
1.การดำเนินการกู้หัวรถจักรขึ้นเหนือน้ำ
2.การจัดเตรียมงานแสดง แสง สี เสียง เพื่อใช้ในการประกอบงานประจำปีจังหวัดราชบุรี
ขั้นตอนที่ 4 ขยายผลการปฏิบัติ
1.การสรุปผลการปฏิบัติ และปัญหาข้อขัดข้องของการดำเนินการในแต่ละส่วนที่รับผิดชอบ
2.รวบรวม เรื่องราวของปฏิบัติการ ปัญหาข้อขัดข้องพร้อมหาแนวทางแก้ไข เพื่อจัดเก็บเป็นบันทึกเหตุการณ์การดำเนินการซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ในโอกาสต่อไป
3.ทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป ผลักดันให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรีในการแสดง แสง สี เสียง เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ประกอบงานประจำปีจังหวัดราชบุรีในทุกๆปี
ในวันที่ 18 ก.พ.2548 พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง (เบื้องลึกประเด็นข่าว. 2548) ได้ใช้เงินส่วนตัวว่าจ้างให้ นายสุทธิ พยัคฆ์ อายุ 64 ปี นายดำรง พยัคฆ์ อายุ 32 ปี และนายสาโรจน์ พยัคฆ์ อายุ 31 ปี สามพ่อลูก อยู่บ้านเลขที่ 81/2 ถ.ท่าเสา เขตเทศบาลเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นนักดำน้ำงมกุ้งและงมหาของเก่าในแม่น้ำแม่กลอง ดำลงไปวางทุ่นลอยในแม่น้ำแม่กลอง โดยจุดวางทุ่นเป็นหัวรถจักร และลูกระเบิดยาว 1.50 เมตร จำนวน 8 ลูก
ทั้งสามพ่อลูกกล่าวต่อว่า การดำลงไปครั้งนี้พบหัวรถจักรและลูกระเบิดหลายลูก พร้อมด้วยเศษเหล็กที่ถูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำลาย ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แต่มีสนิมเกาะ ก่อนหน้านี้นับสิบปี พวกตนมาดำงมกุ้งและงมหาของเก่า เมื่อถึงบริเวณนี้ได้พบส่วนของหัวรถจักรจมอยู่ภายในมีทรายอยู่เป็นจำนวนมาก พวกตนเล่าให้กับชาวราชบุรีฟังหลายคน ส่วนระเบิดที่พบนั้นลูกใหญ่สูงเท่าคนเกือบสิบลูก ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งระดับความลึกจากผิวน้ำลงไปถึงหัวรถจักรประมาณ 10 เมตร
นอกจากนั้น ในการดำน้ำในครั้งนี้ พันเอก คณิต แจ่มจันทรา ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 11 (ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ. 2548) ได้รายงานจุดที่ติดตั้งทุ่นลอยสีส้ม ไว้จำนวน 5 จุด เพื่อแสดงตำแหน่งของซากและสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
1. หัวรถจักรไอน้ำ 1 คัน (จำนวน 4 ทุ่น)
2. ลูกระเบิด ขนาด 1,000 ปอนด์ 3 ลูก
3. กระจังหน้ารถจักร 1 ชิ้น
4. รางรถไฟ 2 ชิ้น
5. ล้อรถจักร 1 ชิ้น
หลังจากได้ดำเนินการผูกทุ่นลอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2548 พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ ได้สั่งการให้ชุดประดาน้ำของกรมการทหารช่าง (กองกิจการพลเรือน. 2548) ประกอบด้วย จ.ส.อ.ยุทธนา ปภากรณ์ จ.ส.อ.ธีรวัฒน์ ไล้เลิศ จ.ส.อ.อนุชาลักษมีราต ส.อ.อภิชาต จงอริยตระกูล และ จ.ส.อ.สิทธิเดช เดชแพ ให้ดำน้ำลงไปถ่ายภาพหัวรถจักรใต้น้ำ เพื่อนำขึ้นมาประกอบการประชาสัมพันธ์ โดยได้กำหนดดำน้ำเวลา 12.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำนิ่งและกระแสน้ำต่ำสุด ปรากฏว่าการปฏิบัติงานในครั้งนี้ล้มเหลว เนื่องจากทัศนวิสัยใต้น้ำไม่ดี ขุ่นมาก
วันที่ 12 เมษายน 2548 เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้เขียนและทีมงานปฏิบัติงานใต้น้ำของกรมการทหารช่างชุดเดิม รวม 4 คน พร้อมด้วยนักดำเก็บกู้สิ่งของจากบ้านท่าเสาอีก 4 คนที่กล่าวมาแล้ว ได้รับมอบหมายอีกครั้งจาก พลโทชัยยุทธฯ เจ้ากรมการทหารช่างให้ลงไปดำน้ำเพื่อพิสูจน์ทราบรูปแบบของหัวรถจักร การพิสูจน์ทราบยังล้มเหลวในวันนี้
วันที่ 13 เม.ย.48 พวกเราลงดำน้ำกันอีกครั้งประมาณ 07.00 น.ซึ่งคำนวณแล้วว่าน้ำจะค่อนข้างนิ่งที่สุด จะได้ไม่มีกระแสน้ำ และฝุ่นตะกอนที่จะรบกวนการมองเห็นและเอื้อต่อการถ่ายภาพของพวกเรา ผลยังคงเหมือนเดิม แต่ในครั้งนี้ เราสามารถจำลองลักษณะการจมต่างๆ ว่าจมอยู่ในลักษณะใด ที่ความลึกเท่าใด หัวรถจักรวางตัวอย่างไร แต่พวกเราก็ยังไม่กล้าฟันธงระบุลงไปว่าเป็นหัวรถจักรรุ่นใด
ในการสำรวจในครั้งนี้ พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง ยังได้เชิญ นายพลวัตร ชยานุวัชร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางกอบกุล นพอมรบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี เขต 1 นายสมศักดิ์ รัตนมุง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี นางศมานันท์ เหล่าวณิชวศิษฎ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรี กำนันเรืองศักดิ์ เลขวัฒนโรจน์ ประธานหอการค้าราชบุรี และ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ร่วมลงเรือสำรวจสถานที่บริเวณที่หัวรถจักรไอน้ำจมอยู่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ พร้อมนำเสนอโครงการกู้หัวรถจักรไอน้ำ ให้แก่ นายพลวัตร ชยานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวดราชบุรี และคณะ ได้รับทราบ ซึ่งทั้งหมดมีความเห็นชอบด้วยว่า จะแต่งตั้งคณะกรรมการของจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาต่อไป
ยังไม่จบครับ...บันทึกยังไม่เสร็จ













บทความที่เกี่ยวข้อง
-พิสูจน์ทราบหัวรถจักร ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์
-ความพินาศของราชบุรี-ระเบิดสะพานครั้งที่ 1
-ความพินาศของราชบุรี-ระเบิดสะพานครั้งที่ 2
-ความพินาศของราชบุรี-สะพานจุฬาลงกรณ์จม

ไม่มีความคิดเห็น: